ต้อหิน Glaucoma
ต้อหิน เป็นโรคที่มีการทำลายเส้นประสาทตา มีหลายสาเหตุ ซึ่งความดันตาสูงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ลานสายตาเสียไป หรือแคบลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกกว่า 35 ปีประมาณ 1-2 % แต่อาจพบได้ในคนอายุน้อยกว่านี้หรือเป็นมาแต่กำเนิดก็ได้
ต้อหินเป็นสาเหตุของตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก คนเป็นต้อหินส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัวเองก็มาก เนื่องจากบางชนิดไม่มีอาการปวด กว่าจะมาพบแพทย์ก็ตามัวหรือลานสายตาแคบจนเดินชนสิ่งของ
การตรวจประสาทตาและวัดความดันตาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกว่าเป็นต้อหินหรือไม่ ถ้าความดันตาสูงแสดงว่า มีน้ำหล่อเลี้ยงคั่งมาก ระบายออกไม่ทัน ตาจะแข็งราวกับหิน จึงเรียกว่า “ต้อหิน”
ชนิดของต้อหิน มี 2 ชนิด
- ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
- ต้อหินชนิดเรื้อรัง
1.ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
จะมีอาการปวดตา ตามัว เห็นไฟเป็นรุ้งโดยรอบ อาจปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้ ถ้าความดันตาสูงมากถ้าไม่รับการรักษาตาจะบอดได้ แต่ถ้ารีบรักษาก็สามารถกลับมาเห็นได้เป็นปกติ
สาเหตุของต้อหินชนิดเฉียบพลัน
- ม่านตาอักเสบ
- ต้อกระจกที่ปล่อยให้สุก
- อุบัติเหตุเกิดเลนส์ตาเคลื่อนมาด้านหน้าปิดกั้นการระบายของน้ำหล่อเลี้ยงตา
- เกิดเอง เนื่องจากเกิดมาช่องระบายน้ำหล่อเลี้ยงในตาแคบ พออายุมากขึ้น และอากาศสลัวๆ ก็เกิดการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยง
2.ต้อหินชนิดเรื้อรัง
ระยะแรกจะไม่มีอาการ โรคจะดำเนินไปช้าๆ ความดันตาสูงขึ้นทีละน้อย มักเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง ประสาทตาจะถูกทำลายลงเรื่อยๆ ทำให้ลานสายตาแคบลงจนตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษา
สาเหตุของต้อหินชนิดเรื้อรัง
- เบาหวานขึ้นตา
- ม่านตาอักเสบเรื้อรัง
- เกิดจากการซื้อยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หยอดติดต่อกันหลายขวด ยากลุ่มนี้รักษาอาการอักเสบได้ดี แต่ก็มีผลแทรกซ้อนเป็นต้อหินได้ เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรซื้อยาหยอดเอง ควรใช้ยาที่จักษุแพทย์สั่งและติดตามการรักษากับจักษุแพทย์เป็นระยะๆ
- อุบัติเหตุจากของมีคมหรือแรงกระแทกที่ทำให้เกิดเลือดออกในตา ซึ่งในระยะยาวอาจมีต้อหินแทรกซ้อนได้ คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุจึงควรหมั่นตรวจความดันตาเป็นระยะๆด้วย
- เกิดเอง โดยเฉพาะผู้ที่มีญาติพี่น้องในครอบครัวเป็น ต้องตรวจความดันตาตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะเป็นกรรมพันธุ์ได้
การรักษาต้อหิน
- การใช้ยา
- การใช้แสงเลเซอร์
- การผ่าตัด
การจะรักษาด้วยวิธีใดขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และสาเหตุของโรค ทั้งนี้จักษุแพทย์จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจที่จะให้ผลดีที่สุดกับผู้ป่วย และเมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้ว
ผู้ป่วยจะต้องพบจักษุแพทย์เป็นระยะๆ ตามนัดเพื่อจะได้ประเมินความดันตา ลานสายตา และการมองเห็น เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาหยอดเพิ่มเติมจากการฉายเลเซอร์หรือหลังผ่าตัด ในรายที่ไม่ได้เลเซอร์หรือผ่าตัดก็ต้องใช้ยาหยอดตลอดขาดไม่ได้
จุดประสงค์ที่สำคัญของการรักษาต้อหินก็คือพยายามให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ตลอดไป ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วก็จะทำให้เซลล์ประสาทตาตายน้อย การมองเห็นก็จะยังดีอยู่มาก
แต่ถ้ามาช้ามีการทำลายประสาทตาไปมาก การรักษาไม่สามารถเรียกเซลล์ที่ตายแล้วคืนมาได้ แต่จะช่วยให้เซลล์ประสาทที่ยังเหลืออยู่ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพไปให้นานที่สุด
การป้องกันต้อหิน
- ตรวจสุขภาพตาประจำปี โดยการวัดความดันตาในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป
- ไม่ซื้อยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์มาหยอดเอง
บทความโดย

นายแพทย์สมชาย กิตติพงษ์หรรษา
จักษุแพทย์ ประจำโรงพยาบาลขอนแก่น ราม

ศูนย์โรคตา
ศูนย์โรคตาโรงพยาบาลขอนแก่นราม ให้บริการและดูแลรักษาโรคทุกโรคและอาการต่างๆ เกี่ยวกับดวงตา โดยทีมจักษุแพทย์ของโรงพยาบาล พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัยได้มาตรฐานสำหรับการตรวจวินิจฉัย และรักษา
อ่านเพิ่มเติม