degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label

การเตรียมตัวส่องกล้องหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น Esophago-Gastro-Duodenoscopy ; EGD , Gastroscopy

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน หรือส่องกล้องกระเพาะอาหาร คืออะไร ?

คือวิธีที่ทำให้แพทย์สามารถมองเข้าไปในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นได้โดยตรง โดยใช้กล้องส่องกระเพาะอาหาร ที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กที่สามารถงอได้ มีแสงสว่างปลายท่อซึ่งจะผ่านจากปากเข้าไปในหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นตามลำดับ โดยดูผ่านจอทีวี

แพทย์จะสามารถดูการอักเสบ ดูแผล ดูเนื้องอก ตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง เพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งการส่องกล้องเพื่อห้ามเลือด สำหรับรักษาเลือดออกทางเดินอาหาร

อาการอะไรบ้างที่ควรส่องกล้องกระเพาะอาหาร ?

  • ปวดท้อง จุกแน่นลิ้นปี่
  • กลืนอาหารลำบาก
  • อาเจียนโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ อาเจียนเป็นเลือด
  • เลือดออกทางเดินอาหาร

เจ็บมากหรือไม่ ?

การส่องกล้องกระเพาะอาหารจะไม่เจ็บ แต่ผู้ป่วยบางคนจะรู้สึกไม่สบาย ดังนั้นแพทย์อาจให้ยาบางอย่างเพื่อคลายกังวล และจะพ่นยาที่คอหรือให้ยาเพื่อให้ชาที่ด้านหลังของคอ

การเตรียมตัวส่องกล้องกระเพาะอาหารทำอย่างไร ?

ก่อนการตรวจ

  • ห้ามรับประทานอาหารและดื่มน้ำ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการตรวจ ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่า กระเพาะอาหารว่างเปล่าและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน โดยแนะนำให้งดน้ำงดอาหารหลังเที่ยงคืน เพื่อส่องกล้องกระเพาะอาหารในตอนเช้า
  • ถ้ามีฟันปลอมชนิดถอดได้ให้ถอดออก
  • ถ้ามีการฉีดยาให้หลับนอกเหนือการพ่นยาชาเฉพาะที่ในช่องปากและลำคอ ท่านควรให้ญาติมารับท่านกลับ เพราะว่าท่านอาจจะยังง่วงอยู่หลังการตรวจ

ระหว่างการตรวจ

  • ในห้องตรวจ ท่านจะได้การพ่นยาชาในลำคอและอาจได้รับการฉีดยาให้หลับ
  • ท่านจะถูกขอให้นอนตะแคงซ้าย หลังจากนั้นจะใส่ที่กันกัดเพื่อให้ปากเปิดเล็กน้อย จากนั้นกล้องตรวจกระเพาะอาหารจะถูกใส่ผ่านลงไปยังหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นโดยไม่เจ็บ
  • โดยปกติแล้วจะใช้เวลาในการตรวจอย่างละเอียดประมาณ 7-10 นาที หรืออาจจะนานกว่านั้นถ้ามีรอยโรคที่ต้องตัดชิ้นเนื้อตรวจเป็นจำนวนหลายชิ้นมากกว่าปกติ หรือมีการตัดติ่งเนื้อร่วมด้วย หรือมีการห้ามเลือด
  • ระหว่างการตรวจ แพทย์จะใส่ลมเล็กน้อยเข้าไปในกระเพาะอาหาร เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนมากขึ้น เจ้าหน้าที่จะดูดน้ำลายที่ออกมาด้วยเครื่องดูดเสมหะ
  • ในตอนสิ้นสุดการตรวจ กล้องส่องกระเพาะอาหารจะถูกนำออกมาอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

หลังการตรวจ

  • ควรพักเป็นเวลาประมาณ 30 นาที ก่อนกลับบ้าน
  • ถ้ายังรู้สึกชาที่คออยู่ ต้องรออย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อให้คอหายชา จึงจะสามารถดื่มหรือทานอาหารได้
  • ในวันที่ตรวจ อาจจะเจ็บคอ หรือรู้สึกท้องอืดได้
  • ควรมีญาติหรือเพื่อนมาด้วย เพื่อรับท่านกลับแล้วควรจะพักผ่อนทั้งวัน
  • กรณีได้รับยาฉีดให้หลับร่วมด้วยนอกไปจากการพ่นยาชาเฉพาะที่ หลังการตรวจ ไม่ควรขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเวลา 24 ชั่วโมง
  • วันถัดไป สามารถทำงานได้ตามปกติ

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม