ระวัง เห็บและแมลงพาหะนำโรค
ช่วงสัปดาห์นี้มีข่าวดังด้านสาธารณสุขคือ โรคลายม์ ติดต่อจากการแพร่เชื้อผ่านเห็บ โรคนี้พบได้ทั่วโลก แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีรายงานการพบเชื้อในเห็บ โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และผู้ป่วยรายแรกของไทยแพทย์ก็รักษาหายแล้ว แต่ที่ตกใจกันก็เพราะผลจากโรคก็คือ ลบความทรงจำได้ อันที่จริงอาการของโรคนี้มีได้หลายอย่าง เริ่มต้นอาจมีไข้ ปวดข้อ ปวดหัว คอแข็ง ถ้าไม่ได้รับการรักษาเชื้อจะลามไปถึงสมอง จนสมองเสื่อมได้
ดังนั้น หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ ควรศึกษาว่าประเทศนั้นมีโรคประจำถิ่นอะไร มีคำแนะนำอย่างไรเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนคนที่กลับมาจากต่างประเทศแล้วมีอาการตามลักษณะดังกล่าวข้างต้น ขอให้พบแพทย์โดยเร็ว
ในช่วงฤดูฝน กรมอนามัยเองก็ได้ออกมาเตือนให้ระวังผลกระทบจากสัตว์มีพิษ และแมลงพาหะนำโรค ซึ่งบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงกับชีวิตได้ ได้แก่
เห็บ
การป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเห็บอาศัยอยู่ เช่น กองใบไม้ ป่า พุ่มไม้ ถ้าต้องไปในบริเวณดังกล่าวควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด หากโดนเห็บกัดให้รีบทำความสะอาดล้างแผลจะช่วยลดการติดเชื้อที่แผลได้
งู
วิธีป้องกันไม่ให้งูเข้าบ้านคือ ทำลายแหล่งอาหารของงู เช่นหนู ปิดช่องทางเข้าออกของหนูและงู
แมลงก้นกระดก
ลักษณะลำตัวเป็นปล้องๆ สีดำสลับแดง เมื่อสัมผัสกับตัวแมลง มันจะปล่อยของเหลวออกมาทำให้ปวดแสบปวดร้อน ผิวไหม้ เป็นตุ่มน้ำ
วิธีป้องกันคือ ติดมุ้งลวดและกางมุ้งนอน ห้ามตีหรือขยี้ด้วยมือเปล่า ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยแมลงออกไป หากมีอาการอักเสบร้ายแรง รีบพบแพทย์ทันที
กิ้งกือ
บางชนิดสามารถปล่อยสารพิษจากลำตัว หากสัมผัสจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อน วิธีรักษาคือ ให้ล้างผิวด้วยน้ำมากๆ และทายาฆ่าเชื้อโรค
หากสารพิษเข้าตา ให้ล้างด้วยน้ำอุ่นและหยอดยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันกิ้งกือเข้าบ้านต้องปรับสภาพแวดล้อมบริเวณบ้านให้โล่งเตียน แดดส่องถึงพื้น และอุดรอยร้าวไม่ให้กิ้งกือคลานเข้าบ้าน
แมลงวันและแมลงสาบ
วิธีป้องกันคือทำความสะอาดบ้าน ปิดอาหารมิดชิด เก็บกวาดเศษอาหารและขยะให้เรียบร้อย
ยุงลาย
พาหะนำโรคไข้เลือดออก ต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เก็บขยะและคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง ปิดโอ่งน้ำ ถังน้ำให้มิดชิด หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด ติดมุ้งลวด กางมุ้งนอน หรือทายากันยุง เป็นต้น
ทั้งนี้ เราต้องดูแลและป้องกันตนเองจากสัตว์มีพิษและแมลงพาหะนำโรค ด้วยการทำความสะอาดสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและนอกบ้าน กำจัดแหล่งอาหารและแหล่งเพาะพันธุ์ต่างๆ หากโดนสัตว์มีพิษสัมผัสกับร่างกายต้องให้รีบหายารักษา
ถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที สำหรับเด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้สัมผัสกับสัตว์ที่มีพิษหรือพาหะนำโรค และหมั่นสังเกตภายในบ้านไม่มีให้สัตว์เข้ามาได้ เพื่อความปลอดภัยของคนในบ้าน
คุกกี้และความเป็นส่วนตัว
เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย