โรคภูมิแพ้รักษาได้
วัคซีนภูมิแพ้ (Immonotherapy) คืออะไร
วัคซีนภูมิแพ้ คือการฉีดสารที่ผู้ป่วยแพ้เข้าไปในร่างการทีละน้อย จนทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและใช้ยาน้อยลง ได้ผลดีในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรพืช ไรฝุ่น แมลงสาบ รังแคสุนัข/แมว เชื้อรา และพิษแมลง
ผู้ป่วยต้องได้รับการยืนยันว่าแพ้สารนั้นจริง โดยการทำการสะกิดภูมิแพ้ที่ผิวหนัง (Skin Test) ก่อน จึงจะสามารถฉีดวัคซีนภูมิแพ้ได้
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
- ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหลังสัมผัสสารก่อภูมิแพ้และลดการใช้ยาลงได้ บางรายหายขาดจากภาวะภูมิแพ้
- ลดโอกาสแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใหม่เพิ่มเติมได้
- ช่วยป้องกันไม่ให้คนที่เป็นโรคจมูกหรือตาอักเสบภูมิแพ้กลายเป็นโรคหืดต่อไป
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ ได้ผลใน โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ และ/หรือ ตาอักเสบภูมิแพ้(คัน เคืองตา) โรคหืดจากภูมิแพ้ที่ควบคุมอาการได้ โรคแพ้พิษแมลง แต่ไม่ได้ผลในโรคต่อไปนี้ แพ้อาหาร และลมพิษผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
ต้องฉีดนานเท่าใด พบแพทย์บ่อยแค่ไหน
การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ มี 2 ช่วง
1. ช่วงแรก ใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน โดยนัดมาฉีดทุก 1-2 สัปดาห์ โดยเพิ่มขนาดของวัคซีนขึ้นทีละน้อย
2. ช่วงหลัง ใช้เวลาประมาณ 3 ปี โดยนัดมาฉีดทุก 4-8 สัปดาห์ (ขึ้นกับชนิดของสารที่แพ้และการตอบสนองของผู้ป่วยแต่ละราย)
โดยทั่วไปเห็นผลใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นต่อไปจนครบ 3 ปี (ขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่แพ้และการตอบสนองต่อการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย) เพื่อให้สามารถทนสารที่แพ้ได้อย่างต่อเนื่อง
หลังหยุดวัคซีนภูมิแพ้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีบางรายมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ
ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนภูมิแพ้
มีอาการบวม แดง ปวดหรือคัน บริเวณที่ฉีด มักเกิดขึ้นทันทีหรือภายใน 30 นาที ที่พบน้อยกว่าคือ อาการแพ้แบบรุนแรง (หอบ แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ลมพิษ หน้าบวม เป็นลมหมดสติ หรือช็อค) มักเกิดภายใน 30 นาทีถึง 1 ชม.หลังฉีด ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องอยู่ในสถานพยาบาลหลังฉีดจนครบ 30 นาที เพื่อตรวจติดตามชีพจร ความดัน การหายใจและสมรรถภาพปอด เมื่อปลอดภัยแล้วจึงให้กลับบ้านได้ ระหว่างนี้หากมีอาการผิดปกติต้องแจ้งแพทย์ทันทีคุกกี้และความเป็นส่วนตัว
เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย