degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

ความร้อนก่อให้เกิดการเจ็บป่วย มีความรุนแรงตั้งแต่น้อยไปถึงมาก จนกระทั่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การเจ็บป่วยจากความร้อน

สภาพอากาศร้อนในช่วงนี้ สามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะในเด็ก หรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หากไม่ได้มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญสภาพอากาศร้อน ก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้เช่นกัน

ความร้อนก่อให้เกิดการเจ็บป่วย มีความรุนแรงตั้งแต่น้อยไปถึงมาก จนกระทั่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ได้แก่

โรคอุณหพาต หรือโรคลมเหตุร้อน

“การสูญเสียน้ำในร่างกายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้อวัยวะภายในหยุดการทำงาน และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด ทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้โดยเฉพาะคนที่ต้องออกไปเผชิญกับอากาศร้อนๆ ในช่วงนี้ ”

มีอาการ ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส การทำงานของระบบประสาทกลางเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความรู้สึกตัวผิดปกติ เช่น ซึมลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีเหงื่อออกตามร่างกาย ภาวะดังกล่าวนี้เป็นภาวะที่มีความรุนแรงมากสามารถทำให้เสียชีวิต หรือมีความพิการทางสมองได้

หากพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ การรีบพาออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด ถอดเสื้อผ้า และพยายามลดอุณหภูมิร่างกาย ใช้น้ำพ่นให้ทั่วร่างกาย และเป่าด้วยพัดลมก่อน และระหว่างนำส่งโรงพยาบาล

ผดหรือโรคผื่นร้อน

เป็นการอักเสบของท่อเหงื่ออย่างเฉียบพลัน เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อจากเศษขี้ไคล ทำให้ท่อเหงื่อขยายตัวภายใต้แรงดัน จนระทั่งแตกในที่สุด ทำให้เกิดตุ่มแดงที่ผิวหนัง

มักมีอาการคัน โดยสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแอนติฮิสตามีน เช่น คลอร์เฟนิรามีน แต่การใช้แป้งฝุ่น หรือแป้งโรยตัวเด็กมักไม่ค่อยได้ผล เราสามารถป้องกันการเกิดผดได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าที่สะอาด เบา และหลวม รวมทั้งหลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้เกิดเหงื่อจำนวนมาก

การบวมจากความร้อน

มีอาการบวม หรือรู้สึกตึงบริเวณมือ และเท้า มักเกิดภายใน 1-2 วันแรกของการสัมผัสความร้อน แต่จะไม่มีอาการบวมลุกลามไปยังบริเวณอื่น เช่น หน้าแข้ง ข้อเท้าหรือเปลือกตา อาการบวม ดังกล่าวนี้สามารถหายเองได้ภายใน 1-2 วัน

โรคลมแดด

โรคนี้จะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ มักเกิดกับผู้ที่ไม่เคยชินกับสภาพความร้อนในช่วงแรกของการสัมผัสความร้อน แก้ไขโดยการออกจากแหล่งความร้อน ทดแทนสารน้ำ และนอนพักผ่อน

โรคตะคริวแดด

มีอาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อน่อง หรืออาจมีอาการที่ต้นขา และไหล่ได้ มักเกิดในผู้ที่เสียเหงื่อเป็นปริมาณมาก และได้รับการทดแทนด้วยน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มที่ไม่มีเกลือแร่

อาการดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้โดยการออกจากแหล่งความร้อน นอนพักในร่ม และให้เครื่องดื่มเกลือแร่ทดแทน

โรคเพลียแดด

มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงงปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ แต่ยังรู้สึกตัวตามปกติ เกิดจากการขาดสารน้ำ และเกลือแร่อย่างรุนแรง ภาวะดังกล่าวนี้สามารถให้การรักษาด้วยการออกจากแหล่งความร้อน แล้วนอนพักพร้อมให้สารน้ำทดแทนทั้งโดยการดื่มและการให้ทางหลอดเลือดดำ


ป้องกันได้หากเตรียมตัวให้พร้อม

ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญสภาพอากาศร้อน โดยการออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที และดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละประมาณ 1 ลิตร คือประมาณ 4-6 แก้วต่อชั่วโมง แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม

ถ้าหากจำเป็นจะต้องออกไปในที่กลางแจ้ง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี

ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ SPF ตั้งแต่ 15 ขึ้นไป หรือควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10-15 นาฬิกา

ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ก่อนการออกกำลังกาย หรือต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาเสพติดทุกชนิด

สำหรับในเด็กเล็ก หรือคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โดยพยายามจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อม หรือห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี

ในเด็กอาจต้องกำหนดให้มีระยะพักระหว่างการเล่นทุกครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง และให้ดื่มน้ำครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้วในระหว่างพัก

ทั้งนี้อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของเด็กและคนชรา และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพังโดยเด็ดขาด


© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม