คลินิกโรคระบบประสาทและสมอง โรงพยาบาลขอนแก่น ราม ให้บริการตรวจวินิจฉัย รักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของระบบประสาทและสมองอย่างครอบคลุม โดยแพทย์เฉพาะทางด้านระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู มีทีมพยาบาลและนักกายภาพบำบัด ที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้ดี และสามารถกลับไปดำรงชีวิตตามปกติได้ดังเดิม
โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและหลอดเลือดสมองที่พบได้บ่อย เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
หมายถึง ภาวะที่สมองขาดออกซิเจนเนื่องมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ทำให้สมองตายภายในไม่กี่นาที มีอาการดังนี้
- แขนขาอ่อนแรงโดยเฉียบพลัน หรือมีอาการอัมพฤกษ์ หรือชาบริเวณใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง
- พูดลำบาก หรือไม่เข้าใจบทสนทนา
- ตาพร่ามัว หรือมีปัญหาเรื่องการมองเห็น
- มีปัญหาการทรงตัวหรือบ้านหมุน
- ปวดศีรษะเฉียบพลัน
- มีอาการมึนงงอย่างรุนแรง
- โรคลมชัก (Epilepsy)
เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของร่างกายจนทำให้เกิดอาการชัก โรคลมชักสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ก็มักจะพบในผู้ป่วยเด็กและผู้สูงอายุ - อาการปวดศีรษะ
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ปวดศีรษะไมเกรน ปวดศีรษะจากกล้ามเนื้อตึงตัว จากความเครียด อาการปวดบริเวณใบหน้าเนื่องจากปลายประสาทสมองคู่ที่ห้าอักเสบ ปวดศีรษะที่เกิดจากสาเหตุกระดูกและกล้ามเนื้อต้นคอ จากไซนัสอักเสบ ปวดศีรษะจากขากรรไกร ปวดศีรษะจากต้อหิน ปวดศีรษะจากความดันโลหิตสูง หรือปวดศีรษะจากเส้นเลือดสมองแตก - โรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ
สาเหตุเกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมอง โดยเฉพาะส่วนที่สร้างโดพามีน (Dopamine) ทำให้โดพามีนมีปริมาณน้อยลง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว - โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis : MG)
คือโรคที่มีสาเหตุมาจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการหนังตาตก ยิ้มได้น้อยลง หายใจลำบาก มีปัญหาการพูด การเคี้ยว การกลืน รวมไปถึงการเคลื่อนไหวของร่างกาย - โรคเวียนศีรษะเวียนศีรษะ (Dizziness)
สาเหตุที่พบได้บ่อยคือ จากหูชั้นใน และจากระบบความดันโลหิต - โรคความจำเสื่อม อัลไซเมอร์ (Alzheimer)
เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สมองซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเสื่อมคุณภาพของเซลล์สมองที่มักเกิดขึ้นตามวัย บางกรณีจะเกิดจากพันธุกรรม - โรคสมองเสื่อม (Dementia)
เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง มีการสูญเสียหน้าที่ของสมองหลายด้านพร้อมๆ กันแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นอย่างถาวร ส่งผลให้มีการเสื่อมของระบบความจำและการใช้ความคิดด้านต่างๆ ผู้ป่วยจะสูญเสียความสามารถในการแก้ไขปัญหาหรือการควบคุมตนเอง มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ พฤติกรรม และส่งผลกระทบต่อการทำงาน รวมถึงการดำรงชีวิตประจำวัน - โรคชาตามปลายมือปลายเท้า หรือ โรคปลายประสาทอักเสบ
อาการชาที่บริเวณปลายมือปลายเท้าพบได้บ่อยในวัยทำงาน ถ้าเป็นเล็กน้อยมากกว่า 2-3 วัน และไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดูก่อน อาจจะออกกำลังกาย เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ระหว่างวัน หากยังไม่ดีขึ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบพบแพทย์ก่อนมีอาการมากขึ้น อาการชาตามปลายนิ้วมือนิ้วเท้า เกี่ยวข้องกับการทำงานของเส้นประสาทผิดปกติ - โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Belle’s palsy)
สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งส่วนมากจะเกิดจากภาวะที่เส้นประสาทควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้ามีการอักเสบ หรือ ติดเชื้อไวรัสปลายประสาทคู่ที่ 7 อักเสบหรือได้รับบาดเจ็บ ทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง ดื่มน้ำมีน้ำไหลจากมุมปาก บางรายมีอาการลิ้นชาหรือหูอื้อๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเร็วภายใน 24-48 ชั่วโมง
การบริการของเรา
ตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของโรคระบบประสาททุกประเภท เช่น
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคเส้นเลือดสมองตีบ
- โรคเส้นเลือดสมองอุดตัน
- โรคเส้นเลือดในสมองแตก อัมพฤกษ์ อัมพาต แขนขา อ่อนแรง
- โรคลมชัก
- โรคพาร์กินสันและการเคลื่อนไหวผิดปกติ
- อาการปวดศีรษะ
- โรคเวียนศีรษะ บ้านหมุน
- โรคอัลไซเมอร์
- โรคสมองเสื่อม (Dementia)
- โรคชาตามปลายมือปลายเท้า หรือโรคปลายประสาทอักเสบ
- โรค Belle’s Palsy (โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก) เป็นต้น
เทคโนโลยีทางการแพทย์
1. เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG : Electroencephalogram)
EEG เป็นการตรวจพิเศษเฉพาะทางประสาทวิทยาชนิดหนึ่งที่สามารถบอกตำแหน่งและความผิดปกติในการทำงานของสมองได้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองเป็นการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าซึ่งเกิดจากผลรวมของกระแสไฟฟ้าของกลุ่มเซลล์ในสมอง ผลการตรวจจะปรากฏเป็นรูปกราฟในจอภาพ คลื่นสมองจะมีลักษณะเคลื่อนไหวขึ้นและลงเหมือนคลื่นทั่วไป โดยใช้หน่วยการวัดเป็นรอบต่อนาที เมื่ออยู่ในภาวะปกติคลื่นไฟฟ้าสมองก็เป็นปกติ แต่เมื่อเกิดความผิดปกติของสมอง เช่น ภาวะชัก ภาวะสับสน ความผิดปกตินั้นก็สามารถตรวจได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง
วัตถุประสงค์ในการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) กับผู้ป่วย คือ
- เพื่อวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นลมชัก
- เพื่อวินิจฉัยระหว่างโรคลมชักและการแกล้งชัก
- ช่วยในการวินิจฉัยโรคทางสมองและบอกตำแหน่งของพยาธิสภาพในสมอง เช่น เนื้องอกสมอง ฝีในสมอง โรคติดเชื้อของระบบประสาท
- บอกระดับการตื่นของสมอง ในผู้ป่วยที่มีความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วยวินิจฉัยผู้ ป่วยที่ซึมลง สับสน หรือหมดสติ (โคม่า) และสงสัยว่าผู้ป่วยนั้นมีอาการชักที่ไม่มีการเกร็งกระตุก (Non-convulsive seizure)
- เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าของการนอนหลับ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวข้องกับการหลับ เช่น โรคง่วงหลับ (Narcolepsy)
- ช่วยแยกผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตเวชว่า มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของจิตใจ หรือเกิดจากพยาธิสภาพในสมองหรือโรคลมชัก
การเตรียมตัวสำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองไม่ต้องอดน้ำ อดอาหาร ไม่มีการใช้ยาแก้ปวด หรือการฉีดยาร่วมด้วย เป็นการตรวจแบบผู้ป่วยนอกโดยผู้ป่วยเตรียมตัว ดังนี้
- ผู้ป่วยควรรับประทานยากันชักตามปกติ
- วันนัดตรวจ ต้องสระผมด้วยแชมพูและล้างผมให้สะอาด ห้ามใช้ครีมนวดผม ควรปล่อยให้ผมแห้งก่อนมาถึงห้องตรวจ ไม่ควรใส่น้ำมันแต่งผม เจลแต่งผม เพราะจะมีผลต่อการบันทึกภาพคลื่นไฟฟ้าสมองได้
- ผู้ป่วยควรอดนอนหรือนอนให้ดึกที่สุดในวันก่อนมาตรวจ โดยให้นอนประมาณ 4 ชั่วโมงเนื่องจากผู้ป่วยอาจต้องหลับระหว่างการตรวจ เพื่อหาชนิดของความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมอง
- รับประทานอาหารได้ตามปกติก่อนตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง ไม่ควรงดอาหารเนื่องจาก อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าสมองที่ผิดปกติจากภาวะน้ำตาลต่ำกว่าปกติ
- ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 1 ชั่วโมง
2. เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan : Computerized Tomography Scan)
CT Scan คือการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งแพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์ตามร่างกายบริเวณที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพฉายลักษณะและอวัยวะภายในร่างกาย โดยวิธีการนี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา และสามารถใช้ตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน
วัตถุประสงค์ในการตรวจเครื่องเอกเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) กับผู้ป่วย คือ
- ตรวจวินิจฉัยอาการป่วย เช่น การไหลเวียนของเลือด การเกิดลิ่มเลือด ภาวะสมองขาดเลือด ภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน รอยแตกร้าวของกระดูก เนื้องอก และเนื้อร้าย
- ติดตามการรักษาอาการป่วย ทั้งในระหว่างการรักษาและหลังการรักษา เช่น ตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอก ตรวจผลหลังการรักษามะเร็ง
- ตรวจเป็นแนวทางประกอบการรักษา เช่น ตรวจหาขนาดและรูปร่างของก้อนเนื้อก่อนทำรังสีบำบัด
การเตรียมตัวตรวจ ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง และต้องมีการเจาะเลือดดูการทำงานของไต ค่า Creatinine ต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ ถึงจะทำการฉีดสีได้
3. เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI : Magnetic Resonance Imaging)
MRI คือเครื่องมือที่ใช้สำหรับสร้างภาพอวัยวะภายในร่างกาย โดยอาศัยหลักการของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและคลื่นวิทยุ แล้วนำสัญญาณที่ได้มาประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้ได้ภาพอวัยวะภายในของร่างกาย เช่น สมอง กระดูกสันหลัง ตับ ไต ข้อ ที่มีความคมชัด สามารถแยกเนื้อเยื่อของร่างกายที่ปกติและที่ผิดปกติออกจากกันได้
นอกจากนี้ยังมี MRI of Blood Vessels สามารถตรวจหลอดเลือดของอวัยวะต่างๆ ได้ดี (Magnetic Resonance Angiography : MRA) เช่น ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง หรือการตีบตันของหลอดเลือดไต โดยไม่ต้องเจาะใส่สายสวนเพื่อฉีดสี มีความปลอดภัยสูง ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวใดๆ ทั้งก่อนและหลังการตรวจ และสามารถกลับบ้านได้ทันที
วัตถุประสงค์ในการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) กับผู้ป่วย คือ
- MRI สามารถให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อต่างๆ ได้ชัดเจน ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
- ใช้ได้ดีกับส่วนที่ไม่ใช่กระดูก (Non bony parts) คือเนื้อเยื่อ (Soft tissues) โดยเฉพาะสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง และเส้นประสาทในร่างกาย
- ใช้ได้ดีกับ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็นยึดกระดูกและกล้ามเนื้อ
- สามารถตรวจเส้นเลือดได้โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการฉีดสารทึบรังสี
- ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเนื้อเยื่อเหมือนใน CT scan เพราะไม่ใช้คลื่นรังสี