degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label

วัคซีน หลากเรื่องน่ารู้

ทำไมเราต้องให้ลูกน้อยเจ็บตัวเกือบทุกเดือนในขวบปีแรก เราให้เพราะคุณหมอนัดไปฉีดวัคซีนเฉยๆ หรือเรามีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการให้วัคซีน วัคซีนคืออะไร มีอะไรบ้าง ทำไมต้องมีวัคซีนพิเศษด้วย มีความจำเป็นขนาดไหนที่ต้องฉีดวัคซีนพิเศษ อาจเป็นคำถามสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่าน

วัคซีน คืออะไร ?

วัคซีนมีความหมายถึง การให้เชื้อหรือส่วนหนึ่งของเชื้อเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรคหรือแอนติบอดี ซึ่งอาจให้เวลานานนับสัปดาห์หรือนับเดือนกว่าจะมีภูมิป้องกันโรคได้

การสร้างภูมิคุ้มกันโรคอาจทำได้อีกวิธีหนึ่ง โดยการให้ภูมิต้านทานสำเร็จ หรือที่แพทย์เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน เข้าไปในร่างกายและสามารถต่อต้านเชื้อโรคได้ทันที

วัคซีนไม่ได้หมายความถึงแต่การให้ภูมิคุ้มกันแก่เด็กเท่านั้น แต่ในบางประเภทของวัคซีนมีความมุ่งหมายให้ใช้ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ใหญ่ด้วย ได้แก่ วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี วัคซีนป้องกันอีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ นิวโมคอคคัส และวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เป็นต้น

วัคซีน มีกี่ชนิด?

การแยกประเภทของวัคซีนตามการผลิตสามารถแยกออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid)

เป็นการนำพิษของเชื้อโรคมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก

2.วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live Vaccine)

เป็นวัคซีนที่นำเชื้อมาทำให้อ่อนแรงจนไม่สามารถก่อโรคได้ แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ได้แก่ วัคซีนหัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส งูสวัด ไข้สมองอักเสบ เจอี (ชนิดเชื้อเป็น)

3.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Killed Vaccine)

เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นจากเชื้อโรคทั้งตัวหรือบางส่วนของเชื้อ ได้แก่ วัคซีนตับอักเสบ เอ บี ไอกรน ไข้หวัดใหญ่ โปลิโอชนิดฉีด

การแยกประเภทของวัคซีนอีกวิธีหนึ่ง โดยการใช้แผนสร้างเสริมสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ

1.วัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนบังคับ (Compulsory Vaccine) (EPI)

ได้แก่ วัคซีนที่บรรจุลงในแผนสร้างเสริมสุขภาพของประเทศ

2.วัคซีนเผื่อเลือก (Optional Vaccine)

คือ วัคซีนที่อาจมีประโยชน์แต่ยังไม่มีความแน่ชัดในเรื่องของความสำคัญของวัคซีนในเด็กไทย ประกอบกับวัคซีนมีราคาสูงทำให้รัฐบาลยังไม่มีความแน่ใจในเรื่องความคุ้มทุน จึงไม่ได้จัดเข้าอยู่ในแผนสาธารณสุขของประเทศ ถ้าต้องการฉีดจะต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง

3.วัคซีนสำหรับใช้ในกรณีพิเศษ (Special Vaccine)

คือวัคซีนที่มีความชัดเจนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือหากเป็นโรคแล้วอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง หรือใช้ในผู้ที่จะเดินทางไปในถิ่นที่มีการระบาดของโรค

4.วัคซีนที่อยู่ในการวิจัยและพัฒนา

หมายถึง วัคซีนที่มีความสำคัญต่อการป้องกันโรคแต่อยู่ระหว่างการพัฒนา หรือการทดลองกับอาสาสมัคร เช่น วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก มาลาเรีย เอดส์ เป็นต้น

ข้อควรระวังในการให้วัคซีนหลายชนิดพร้อมกัน

  1. วัคซีนที่มีผลข้างเคียงเดียวกันและเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น ไข้ ไม่ควรให้ในเวลาเดียวกันเพราะจะทำให้ไข้สูงขึ้น
  2. วัคซีนแต่ละเข็มควรให้คนละตำแหน่งกัน และไม่ควรนำวัคซีนต่างชนิดกันมาผสมฉีดครั้งเดียว ยกเว้นเป็นวัคซีนที่มีข้อมูลมาก่อนว่าได้ผลดี
  3. วัคซีนชนิดเชื้อเป็น สามารถให้หลายชนิดพร้อมกัน แต่ถ้าให้ห่างกันควรห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน เช่น หัด คางทูม หัดเยอรมัน อีสุกอีใส และไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็น ส่วนวัคซีนชนิดเชื้อตายจะห่างกันเท่าใดก็ได้

ถ้าไม่ได้มาให้วัคซีนตามนัดจะทำอย่างไรดี ?

หากไม่ได้มารับวัคซีนตามนัด หรือได้วัคซีนห่างกว่าที่กำหนด ไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่หากให้วัคซีนใกล้กันเกินไป อาจทำให้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นหากไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด สามารถนับเป็นเข็มต่อไปได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนับใหม่ ไม่ว่านานเท่าไรก็ตาม

ความรู้เรื่องวัคซีนรายชนิด

คราวนี้เราจะมาพูดถึงวัคซีนทีละตัว โดยจะพูดถึงวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนทางเลือกก่อนนะครับ เนื่องจากเป็นวัคซีนที่เราต้องได้ยินและต้องให้ในเด็กอยู่บ่อยๆ

วัคซีนบีซีจี (BCG)

ปัจจุบันวัณโรคยังเป็นปัญหาที่สำคัญในระบบสาธารณสุขของไทยและทั่วโลก เนื่องจากเป็นโรคที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน และเริ่มมีเรื่องเชื้อวัณโรคดื้อยาพบได้บ่อยขึ้น วัณโรคในเด็กมีอัตราตายสูงและมีปัญหาเรื่องความพิการตามมาได้

วัคซีนบีซีจีเป็นวัคซีนที่เก่าแก่ที่สุด มีการพัฒนามากว่า 70 ปี โดยใช้เชื้อสายพันธุ์ที่ก่อโรคน้อยที่สุด แต่ยังอาจพบผลข้างเคียงของวัคซีนได้ประมาณร้อยละ 1-2 โดยจะพบเป็นตุ่มแดง ภายใน 2-3 สัปดาห์ ต่อมากลายเป็นหนองแตกออกและแห้งไปเอง กลายเป็นแผลเป็นในที่สุด แต่หากไม่มีแผลเป็นให้ดูจากหลักฐานที่ระบุได้รับวัคซีนแล้ว เช่น สมุดวัคซีน โดยไม่จำเป็นต้องฉีดใหม่ เนื่องจากหากฉีดลึกเกินไป อาจไม่มีแผลเป็น แต่ร่างกายยังสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้

วัคซีนบีซีจี สามารถป้องกันวัณโรคปอดในเด็กได้ร้อยละ 0-80 (ประมาณร้อยละ 50) แต่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันวัณโรคเยื่อหุ้มสมอง (ประมาณร้อยละ 86) และวัณโรคชนิดแพร่กระจาย (ประมาณร้อยละ 75) แต่ไม่ช่วยป้องกันวัณโรคในผู้ใหญ่ โดยวัคซีนบีซีจีจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศไทยที่จะให้ในทารกแรกเกิดทุกคน

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี (Hepatitis B Vaccine)

ไวรัสตับอักเสบ บี เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง เนื่องจากผู้ติดเชื้ออาจเกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังหรือเป็นพาหะได้ โดยไวรัสตับอักเสบ บี มีความสัมพันธ์กับโรคตับแข็งและมะเร็งตับ โรคนี้ติดต่อได้จากผู้เป็นพาหะ โดยติดต่อทางเลือดและผลิตภัณฑ์ทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมหรือเข็มร่วมกัน และจากมารดาสู่ทารก

การวินิจฉัยสามารถทำได้โดยการตรวจเลือด โดยสามารถตรวจหาเชื้อหรือหาภูมิคุ้มกันโรคได้ โดยอาจบอกการเป็นพาหะของโรคได้ และช่วยในการพิจารณาการให้วัคซีนในผู้ใหญ่ได้ด้วย

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ให้ในทารกแรกเกิดทุกราย โดยจะให้ทั้งหมด 3 เข็ม ที่อายุแรกเกิด, 1-2 เดือน และ 6-12 เดือน ในทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,000 กรัม อาจต้องฉีดเพิ่มอีก 1 เข็ม โดยไม่นับเข็มแรกเกิด ส่วนในเด็กที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 ที่ไม่แน่ใจว่าได้รับหรือยังและในผู้ใหญ่ อาจต้องตรวจเลือดหาภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีน

อาการข้างเคียงที่พบได้หลังฉีดวัคซีน ได้แก่ ไข้ต่ำๆ ปวดบวมบริเวณที่ฉีด ซึ่งพบได้น้อยและส่วนใหญ่มักจะเป็นไม่เกิน 24 ชั่วโมง

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ (Diphtheria, Tetanus, Pertussis or Whooping Cough and Poliomyelitis)

โรคคอตีบ
เป็นโรคที่ประเทศไทยเราไม่ค่อยเจอมากนักตั้งแต่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน แต่ก็ยังพบได้ประปรายครับ โดยสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกชนิดหนึ่งทำให้เกิดแผ่นเนื้อเยื่อไปอุดกั้นทางเดินหายใจที่จมูก ลำคอ หรือกล่องเสียงและอวัยวะอื่น รวมถึงผิวหนังได้ด้วย อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักพบในคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือแรงงานอพยพหรือชาวต่างชาติที่ไม่ได้รับวัคซีน

โรคบาดทะยักเกิดจากเชื้อแกรมบวกรูปแท่ง ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทคือ ปากค้างหุบไม่ได้ กล้ามเนื้อกระตุกอย่างรุนแรง อาการจะคงอยู่เป็นหลายสัปดาห์แล้วค่อยๆ ลดลง ซึ่งปัจจุบันโรคบาดทะยักมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง มักพบในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือไม่ได้รับการฉีดกระตุ้นเมื่อมีบาดแผล

โรคไอกรน
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่ง มีอาการเป็น 3 ระยะคือ ระยะแรกมีลักษณะคล้ายไข้หวัด น้ำมูกไหล ระยะที่สองมีอาการไอเป็นชุดๆ หายใจเข้าเสียงดัง มักตามด้วยอาเจียนและมักจะไม่มีไข้ ส่วนระยะที่สาม (ระยะฟื้นตัว) อาการจะค่อยๆ ลดลงโดยใช้เวลาเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยโรคจะมีอาการรุนแรงมากที่สุดในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ทำให้เสียชีวิตได้

โรคโปลิโอ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอผ่านทางน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ที่มีเชื้ออยู่ อาการที่รุนแรงคือเกิดอาการอัมพาตแบบอ่อนปวกเปียกเฉียบพลัน (Acute flaccid paralysis)

สำหรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ
ประเภทไทยมีใช้มานานมากแล้ว และจัดเป็นวัคซีนพื้นฐานที่อยู่ในแผนสร้างเสริมป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข โดยตัววัคซีนได้แบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

  1. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนชนิดเต็มเซลล์ และโปลิโอเชื้อเป็นชนิดหยอด (DTwP, OPV) เป็นวัคซีนพื้นฐาน
  2. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนแบบไม่มีเซลล์ และโปลิโอเชื้อตายชนิดฉีด (DTaP, IPV) สำหรับเป็นวัคซีนทางเลือกในกรณีที่ให้วัคซีนไอกรนชนิดเต็มเซลล์แล้วเกิดไข้สูง หรือชัก หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  3. วัคซีนป้องกันโรคคอตีบสำหรับกระตุ้น บาดทะยักไอกรนแบบไม่มีเซลล์สำหรับกระตุ้น (อาจมีหรือไม่มีวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดรวมอยู่ด้วย) (dTap+/-IPV) ใช้สำหรับกระตุ้นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถให้แบบปกติได้ เพราะจะเกิดผลข้างเคียงรุนแรง

วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนและโปลิโอ อาจมีตารางการให้วัคซีนต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับอุบัติการณ์เกิดโรคของประเทศหรือเขตนั้นๆ สำหรับประเทศไทย แนะนำให้วัคซีนทั้งหมด 5 ครั้ง ในช่วงอายุ 2, 4, 6, 18 เดือนและ 4-6 ปี หลังจากนั้นควรจะกระตุ้นอีกทุก 10 ปี โดยให้กระตุ้นเป็นวัคซีนป้องกันโรคคอตีบสำหรับกระตุ้นบาดทะยัก (dT) หรือโรคคอตีบสำหรับกระตุ้นบาดทะยัก ไอกรนแบบไม่มีเซลล์สำหรับกระตุ้น (dTap) ดีกว่าการให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักอย่างเดียว (TT) เนื่องจากในอเมริกาพบโรคไอกรนในเด็กโตหรือผู้ใหญ่มากขึ้น เนื่องจากระดับภูมิคุ้มกันโรคเริ่มลดลงเมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น

วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
(Measles or Rubeola, Mumps, Rubella or German Measles) โรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน ต่างเกิดจากการติดเชื้อไวรัส

โรคหัด
ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ไอ ตาแดง มีผื่นขึ้นเริ่มจากไรผม ลามมาที่ใบหน้า ลำตัวและแขนขา ในเด็กเล็กและผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีภาวะแทรกซ้อนทางปอด ซึ่งมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตสูง

โรคคางทูม
มักมีอาการไม่ค่อยรุนแรง เช่น มีไข้ ต่อมน้ำลายอักเสบ อัณฑะอักเสบ โดยบางครั้งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือสมองอักเสบ เป็นต้น

โรคหัดเยอรมัน
ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง ยกเว้นในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ โดยมีอาการไข้ ผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต ความสำคัญคือหากมีการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือพิการแต่กำเนิดได้

สำหรับวัคซีนในประเทศไทย บางจังหวัดยังให้เพียงวัคซีนป้องกันหัดอย่างเดียว (MV) แต่ส่วนใหญ่จะได้เป็นวัคซีนรวมป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) ในช่วงอายุ 9-12 เดือน และควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 4-6 ปี

มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้ทารกพิการหรือเสียชีวิตได้ ห้ามใช้ในคนที่แพ้ส่วนประกอบของวัคซีนอย่างรุนแรง แต่สำหรับในคนที่แพ้ไข่สามารถให้ได้ เนื่องจากในวัคซีนมีส่วนประกอบของไข่น้อยมาก แต่ควรดูอาการหลังฉีดวัคซีนประมาณ 30 นาที

วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ เจอี (Japanese B encephalitis Vaccine-JEV)

ไข้สมองอักเสบ เจอี

เกิดจากเชื้อไวรัสเจอี โดยมียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค และมีหมูเป็นแหล่งแพร่เชื้อที่สำคัญ เนื่องจากสามารถพบเชื้อในกระแสเลือดของหมูได้เป็นเวลานาน โรคนี้พบมากในเขตเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และตอนบนของทวีปออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก-เฉียงเหนือ

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่หากมีอาการจะเป็นอาการทางสมองคือ เยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบ ซึ่งมักจะทำให้เสียชีวิตหรือมีความพิการหลงเหลือได้

สำหรับวัคซีนที่มีใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิดคือ

1.วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated mouse brain-derived vaccine)

เป็นวัคซีนที่ผลิตได้เองในประเทศ โดยเพาะเลี้ยงในสมองหนู ต้องให้วัคซีนอย่างน้อย 3 ครั้งในอายุ 1-1 ปี ให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 4 สัปดาห์ และอีก 1 ปี หลังเข็มแรก และควรกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4-6 ปี เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะลดต่ำลงเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ปี อย่างไรก็ตามเนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้แบบรุนแรงโดยเฉพาะสมองอักเสบจากการแพ้วัคซีน จึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้เกิน 5 ครั้งตลอดชีวิต

2.วัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live attenuated vaccine)

เป็นวัคซีนชนิดใหม่ที่เพาะเลี้ยงในเซลล์เพาะเลี้ยง จึงทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนดีกว่า และสามารถให้เพียง 2 ครั้ง ก็เพียงพอโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้นอีก โดยวัคซีนสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 9-12 เดือนและครั้งที่ 2 ในอีก 24 เดือน ถัดจากเข็มแรก

วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ (Hib-Haemophillus influenza type B vaccine)

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (H. influenza type B) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งพบบ่อยมากในเด็กอายุ 2 เดือน ถึง 5 ปี ทำให้เกิดโรคหลายอย่าง เช่น ติดเชื้อในกระแสโลหิต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดบวม หูชั้นกลางและไซนัสอักเสบ ซึ่งในประเทศไทยพบไม่บ่อยนัก แต่อาจมีอาการรุนแรงจนพิการหรือเสียชีวิตได้ และติดต่อกันง่ายในสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันมากๆ

วัคซีนในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ ชนิด 2 ครั้ง ซึ่งต้องฉีดแยกต่างหากจากวัคซีนอื่นๆ และชนิด 3 ครั้ง ซึ่งสามารถฉีดรวมกับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรนได้ (เป็นชนิดเข็มรวม) แต่จำนวนเข็มที่ให้จะแตกต่างกันไปตามอายุที่เริ่มฉีด สำหรับคำแนะนำที่ให้ฉีดตอนอายุมากขึ้น เพื่อลดจำนวนครั้งของวัคซีนเพื่อความประหยัดนั้น ไม่ค่อยเหมาะสม เนื่องจากโรคนี้พบบ่อยในเด็กเล็ก จึงควรฉีดให้เร็วที่สุด

เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคในประเทศไทยค่อนข้างต่ำประกอบกับวัคซีนมีราคาค่อนข้างสูง จึงไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย แต่จัดเป็นวัคซีนเผื่อเลือกสำหรับคุณพ่อคุณแม่นะครับ

วัคซีนป้องกันโคอีสุกอีใส(Varicella or Chickenpox Vaccine)

โรคอีสุกอีใส

เป็นโรคที่เราๆ ท่านๆ คงรู้จักกันดีนะครับ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ที่เป็นโรคก็จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีผื่นขึ้นตามตัว ต่อมาจะเป็นตุ่มพองใสคล้ายหยดน้ำ และกลายเป็นตุ่มหนอง แห้งและตกสะเก็ดในที่สุด อาจมีแผลเป็นได้หากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

โรคนี้หากเกิดในเด็กเล็กมักจะมีอาการค่อนข้างน้อย แต่หากเกิดในทารกแรกเกิด เด็กโต ผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและทำให้เสียชีวิตได้ และเมื่อผู้ที่ติดเชื้ออีสุกอีใสแล้วเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีอาจเกิดโรคงูสวัดตามมาได้

สำหรับวัคซีนอีสุกอีใส สามารถให้ฉีดในเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป โดยการฉีดวัคซีน 1 ครั้ง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ประมาณ 85% แต่อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการระบาดในชุมชนหรือในโรงเรียนได้ การให้วัคซีนเข็มที่ 2 จะทำให้มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ถึง 98% และป้องกันโรครุนแรงได้ถึง 100% จะเห็นได้ว่าการให้วัคซีนอีสุกอีใสไม่สามารถป้องกันโรคได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้

สำหรับช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน ถ้าเริ่มให้เข็มแรกตอนอายุ น้อยกว่า13 ปี ควรได้รับการกระตุ้นอีกครั้งตอนอายุ 4-6 ปี หรือห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน และถ้าให้ในเด็กอายุมากกว่า 13 ปี หรือผู้ใหญ่ควรให้ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 28 วัน และประโยชน์ของการฉีดวัคซีนก็คือ ผู้ที่ได้รับวัคซีนจะมีอุบัติการณ์เกิดโรคงูสวัดน้อยกว่าผู้ที่ติดเชื้อตามธรรมชาติมาก และหากเกิดโรคอีสุกอีใส อาการมักจะน้อยจำนวนตุ่มก็มักจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีมานานแล้ว แต่เนื่องจากในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก ประกอบกับการตรวจเชื้อทำได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

สำหรับไข้หวัดใหญ่จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Endemic flu) และไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่ (Pandemic flu) ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เคยเป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่ แต่ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้ว และในอนาคตก็อาจจะมีไข้หวัดใหญ่ระบาดใหม่มาอีกเป็นระยะ เนื่องจากสามารถมีการกลายพันธุ์ได้อีก

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ในกลุ่มบุคคลต่อไปนี้

1.เด็กอายุ 6 เดือน -18 ปี และผู้ดูแลเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี

2.ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหรือมีภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรคปอดเรื้อรัง หอบหืด โรคหัวใจที่มีระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง กินยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวี โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่ทานยา Aspirin เป็นเวลานาน โรคไตเรื้อรัง เบาหวาน โรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35)

3.หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาส 2-3 ในช่วงที่มีการระบาด

4.บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ

5.ผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ที่มีความเสี่ยงเบื้องต้น (เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้กับกลุ่มเสี่ยง)

นอกจากนี้ยังอาจพิจารณาให้ในผู้ที่อยู่ในสถานศึกษา หรือผู้ที่อยู่รวมกันมากๆ เพราะอาจแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ และแนะนำให้ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปีด้วย

วัคซีนในประเทศไทยมีทั้งชนิด 3 สายพันธุ์และ 4 สายพันธุ์ สามารถให้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป โดยในเด็กอายุ 6 เดือน -3 ปี ใช้ขนาดครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ และใช้ขนาดยาเดียวกับผู้ใหญ่ในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป และในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ต้องให้ทั้งหมด 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือนในปีแรก และต่อไปปีละ 1 ครั้ง สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไปรวมถึงผู้ใหญ่ ให้ปีละ 1 ครั้งตั้งแต่ปีแรกที่ให้วัคซีนได้เลย

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ

ตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ เป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย สามารถติดต่อได้โดยการทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ในเด็กเล็กมักจะไม่มีอาการจากการติดเชื้อ แต่ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่อาจเกิดภาวะตับอักเสบเฉียบพลันหรือตับวายได้ เนื่องจากปัจจุบัน สุขอนามัยของเด็กไทยดีขึ้นทำให้การติดเชื้อตามธรรมชาติลดลง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจึงน้อยลงด้วย

สำหรับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ สามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี ขึ้นไป โดยต้องให้ 2 ครั้งห่างกัน 6-12 เดือน ขนาดของวัคซีนที่ให้ สามารถให้ในขนาดของเด็กได้จนถึงอายุ 18 ปี หลังจากนั้นต้องให้ในขนาดของผู้ใหญ่ โดยวัคซีนต่างบริษัทสามารถแทนกันได้

ผลข้างเคียงของวัคซีนค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่มักเป็นผลข้างเคียงเฉพาะที่ที่ไม่รุนแรง

วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี (IPD-Invasive Pneumococcal Disease)

โรคไอพีดี เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส หรือ Streptococcus pneumoniae ซึ่งพบในโพรงจมูกในคนทุกกลุ่มอายุ สามารถติดต่อกันได้ทางการไอจามหรือเสมหะจากคนที่มีเชื้อ โดยเชื้อนี้ทำให้เกิดโรคที่สำคัญหลายชนิด เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในกระดูกและข้อ ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง การติดเชื้อหนึ่งครั้งไม่สามารถมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ได้ และปัจจุบันพบเชื้อดื้อยามากขึ้นทำให้มีปัญหาต่อการรักษามากขึ้น

วัคซีนสำหรับเชื้อนิวโมคอคคัสมี 2 ชนิด ได้แก่

1.วัคซีนป้องกันโรคไอพีดีชนิดโพลีแซคาไรด์ ในประเทศไทยมีใช้เป็นชนิด 23 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อได้ประมาณร้อยละ 68-85 ในประเทศไทย และมีประสิทธิภาพป้องกันโรคไอพีดีได้ร้อยละ 56-81 โดยไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีนได้ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีได้ และไม่สามารถป้องกันการเป็นพาหะในโพรงจมูกได้ การฉีดวัคซีนจะให้ครั้งเดียวในเด็กอายุมากกว่า 2 ปี และควรฉีดซ้ำอีกครั้ง 3-5 ปีถัดมา หรือฉีดก่อนตัดม้าม 2 สัปดาห์

2.วัคซีนป้องกันโรคไอพีดีชนิดคอนจูเกต เป็นวัคซีนชนิดที่สามารถใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ได้ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีชนิด 10 และ 13 สายพันธุ์ สามารถครอบคลุมเชื้อได้ 70-80% รวมทั้งยังสามารถป้องกันการเป็นพาหะในโพรงจมูกได้ จึงช่วยลดการแพร่เชื้อลงได้ด้วย โดยองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในเด็กทุกราย แต่ปัญหาใหญ่คือเรื่องราคาของวัคซีนที่ยังค่อนข้างสูงอยู่

วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงรุนแรงจากเชื้อไวรัสโรต้า (Rotavirus Vaccine)

เชื้อไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็กที่พบบ่อยที่สุด พบเป็น 30-60% ของเชื้อไวรัสทั้งหมด อายุที่พบบ่อยคือในช่วง 6 เดือนถึง 3 ปี ในโลกนี้มีเด็กเสียชีวิตจากเชื้อนี้ประมาณ 20% ของโรคอุจจาระร่วงทั้งหมด

วัคซีนในประเทศไทยมี 2 ยี่ห้อ คือ RotarixTM และ RotaTeqTM เป็นชนิดรับประทาน ซึ่งจำนวนครั้งในการให้แตกต่างกันคือ

1. RotarixTM เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยเชื้อไวรัสโรต้าของมนุษย์ (Human-derived monovalent) เป็นชนิด 1 สายพันธุ์แต่สามารถป้องกันเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้บ้าง การให้ทั้งหมด 2 ครั้งห่างกัน 1-2 เดือน

2. RotaTeqTM เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเซลล์ของวัว (Bovine-human reassortant pentavalent) ชนิด 5 สายพันธุ์ต้องให้ทั้งหมด 3 ครั้ง ห่างกัน 1-2 เดือน

โดยวัคซีนทั้งสองชนิดสามารถให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ และครั้งสุดท้ายที่ให้ไม่ควรเกิน 32 สัปดาห์ และหากให้วัคซีนต่างยี่ห้อกันต้องให้ทั้งหมด 3 ครั้ง และหลังจากได้รับวัคซีนครบแล้วยังอาจเกิดโรคในภายหลังได้แต่ความรุนแรงของโรคจะลดลง

วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus Vaccine- HPV)

เชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุอวัยวะเพศที่สำคัญ โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และหูดที่กล่องเสียงในเด็ก ส่วนอีกประเภทคือสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33 และ 45 โดยสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุหลักของรอยโรคก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูกในสตรีถึง 70% การติดเชื้อนี้ในธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้และไม่ทำให้ภูมิต้านทานขึ้นสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ วัคซีนนี้บางครั้งจึงเรียกว่า "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก"

วัคซีนเอชพีวีในประเทศไทยมีด้วยกัน 2 ชนิดคือ

1.วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 (CervarixTM)

การให้วัคซีนจะให้ทั้งหมด 3 ครั้ง คือที่ 0, 1 และ 6 เดือน

2.วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 6,11,16, และ 18 (GardasilTM)

การให้วัคซีนจะให้ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ 0, 2 และ 6 เดือน

การให้วัคซีนจะแนะนำในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 9-45 ปี ส่วนบางประเทศอาจพิจารณาให้วัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ในผู้ชาย เพื่อป้องกันโรคหูดหงอนไก่ แต่ในประเทศไทยยังแนะนำให้ในเพศหญิงก่อน และดีที่สุดควรให้ในหญิงก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และแนะนำให้ในเด็กหญิงอายุ 9-12 ปีขึ้นไป (ในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถให้เพียง 2 ครั้ง ห่างกัน 6 เดือน)

วัคซีนป้องกันงูสวัด (Zoster Vaccine)

โรคงูสวัดมักจะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดรุนแรง และเป็นระยะเวลานาน โดยในบางรายอาจมีอาการปวดยาวนานถึง 2 ปี สำหรับวัคซีนสามารถให้ได้ในคนอายุ 50-60 ปีขึ้นไป และวัคซีนสามารถลดอาการปวดลงได้ประมาณ 67% และลดการเกิดโรคได้ประมาณ 51%

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกกำลังขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในประเทศไทย โดยประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 60% และมีข้อบ่งใช้ในกลุ่มอายุ 9-45 ปี ต้องให้ทั้งหมด 3 เข็ม

สำหรับวัคซีนนอกเหนือจากนี้ จะเป็นวัคซีนที่ใช้ในกรณีพิเศษ หรือวัคซีนที่ให้ในคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งสามารถสอบถามได้จากโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์ในกรณีที่ต้องการได้ครับ


© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม