โรงพยาบาลขอนแก่นราม ให้บริการฉายรังสีแบบระยะไกล แก่ผู้ป่วยที่ต้องการรักษามะเร็ง, เนื้องอก,คีลอยด์ ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีที่ทันสมัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าพลังงานสูง สามารถกำหนดความเข้มรังสีและตำแหน่งของโรคได้อย่างแม่นยำ พร้อมด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์
ศูนย์รังสีรักษา รพ.ขอนแก่นราม (ด้านลานจอดรถ 3 หลังหอพักอาคาร 2) โทร. 043 002 088
- ชำระเอง
- ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการรักษามะเร็ง
- ข้าราชการ & ครอบครัว (จะเปิดให้บริการเร็วๆนี้)
- 30 บาท / บัตรทอง (จะเปิดให้บริการเร็วๆนี้)
รังสีรักษา
รังสีรักษา คือการนำรังสีพลังงานสูงมาใช้รักษาโรคมะเร็งด้วยการฉายรังสีไปที่จุดของโรค
โดยรังสีที่นำมารักษามาจากเครื่องกำเนิดรังสีที่เรียกว่า เครื่องเร่งอนุภาค (Linear Accelerator ; LINAC)
รังสีจะทำให้เซลล์มะเร็งได้รับความเสียหายหรือตายไป ร่างกายจะกำจัดเซลล์เหล่านี้ออกจากร่างกาย ในขณะเดียวกันเซลล์ปกติก็ได้รับผลกระทบจากรังสีด้วย แต่เซลล์ปกติมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้ดีกว่าเซลล์มะเร็ง จึงทำให้เซลล์มะเร็งถูกทำลายได้มากกว่า
ดังนั้น เป้าหมายในการรักษาคือ ให้ปริมาณรังสีสูงสุดในบริเวณก้อนมะเร็ง ในขณะที่เนื้อเยื่อปกติโดยรอบนั้นได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อจำกัดผลข้างเคียงในการรักษา
ปัจจุบันเทคนิคการฉายรังสีพัฒนาไปมาก แพทย์รังสีรักษาสามารถกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ เนื้อเยื่อปกติโดยรอบจึงได้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเดิม
การฉายรังสีไม่เจ็บ จะรู้สึกเหมือนการเอกซเรย์ธรรมดา และเมื่อออกจากห้องฉายรังสีแล้วจะไม่มีรังสีหลงเหลืออยู่ในร่างกาย ผู้ป่วยสามารถอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นได้ตามปกติ
ผู้ป่วยที่เป็นระยะเริ่มแรกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนในรายที่ระยะของโรคมากแล้ว แม้ว่ารังสีไม่อาจรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่อาจทุเลาอาการหรือความเจ็บปวดได้
นอกจากนี้ การฉายรังสีก็ไม่ได้ทำให้มะเร็งกระจาย แต่รังสีจะทำลายเซลล์มะเร็งในขอบเขตที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการป้องกันการกระจายและควบคุมโรค สามารถทำลายเนื้องอกและช่วยทุเลาอาการเจ็บปวดจากมะเร็งได้
บริเวณศีรษะและลำคอ |
มะเร็งสมอง มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งในโพรงจมูกและไซนัส มะเร็งในช่องปาก มะเร็งในลำคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งต่อมน้ำลายและไทรอยด์ |
บริเวณทรวงอก |
มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมน้ำเหลือง |
บริเวณช่องท้อง |
มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งไต มะเร็งต่อมน้ำเหลือง |
บริเวณช่องท้องส่วนล่างและอุ้งเชิงกราน |
มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งมดลูก มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก |
- เทคนิค 3 มิติ : 3D Conformal Radiation Therapy ; 3D - CRT เป็นการนำภาพเอกซเรย์มาช่วยในการกำหนดตำแหน่งของการฉายรังสี โดยกำหนดทิศทางของลำรังสีแล้วปรับรูปทรงและขนาดของลำรังสีให้เหมาะสมกับรอยโรค โดยใช้ Multileaf Collimator ; MLC หรือซี่ตะกั่ว ทำให้ปริมาณรังสีสูงเฉพาะบริเวณก้อนมะเร็ง และสามารถเห็นการกระจายรังสีภายในตัวผู้ป่วย จึงช่วยลดปริมาณรังสีบริเวณเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ และลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีได้มากขึ้น
- เทคนิคปรับความเข้ม : Intensity Modulated Radiation Therapy ; IMRT เป็นเทคโนโลยีการคำนวณขั้นสูงของระบบคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับเปลี่ยนความเข้มของลำรังสีภายในแต่ละทิศทาง (Beam Angle) จึงทำให้ปริมาณรังสีในทิศทางนั้นๆ มีความแตกต่างไปตามลักษณะที่ไม่สม่ำเสมอของเนื้อเยื่อก้อนมะเร็ง ส่งผลให้ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีที่เหมาะสมกับชนิดของเนื้อเยื่อและความหนา คือความเข้มของรังสีจะสูงบริเวณก้อนมะเร็งที่หนา และความเข้มของรังสีจะลดลงบริเวณก้อนมะเร็งที่บาง โดยอาศัยอุปกรณ์ปรับลำแสง (MLC) เพื่อปรับความเข้มของลำรังสีในบริเวณต่างๆ ลำรังสีจะตรงไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่หลบหลีกอวัยวะข้างเคียงรอบๆ ไปด้วย ทำให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้สูงขึ้น และเพิ่มผลการควบคุมโรคได้อย่างปลอดภัย
- เทคนิคปรับความเข้มหมุนรอบตัวผู้ป่วย : Volumetric Modulated Arc Therapy ; VMAT พัฒนามาจากเทคนิค IMRT โดยให้เครื่องฉายรังสีหมุนรอบตัวผู้ป่วย พร้อมกับปรับความเข้มของรังสีตลอดเวลา และยังควบคุมปริมาณรังสีและความเร็วของการหมุนของเครื่องฉายรังสีด้วย จึงช่วยลดระยะเวลา และการฉายรังสีมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดปริมาณรังสีที่เนื้อเยื่อปกติรอบก้อนมะเร็ง ทำให้ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีลดลง
1. เครื่องจำลองการฉายรังสี : CT - Simulator
เป็นเครื่อง Scan ภาพเพื่อหาตำแหน่งของโรค และใช้ในขั้นตอนการจำลองการรักษา ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการฉายรังสีจริง
CT - Simulator สามารถ Scan ภาพและตำแหน่งของก้อนมะเร็ง เนื้องอก และอวัยวะสำคัญรอบๆ ก้อนมะเร็ง รวมถึงการระบุตำแหน่งในการวางลำรังสี เพื่อให้แพทย์และทีมงานผู้เชี่ยวชาญได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน ก่อนเข้าสู่การวางแผนการรักษาต่อไป
ความสำคัญในการจำลองการฉายรังสีด้วย CT - Simulator จะทำให้แพทย์ได้ทราบตำแหน่ง และขนาดของมะเร็ง เพื่อที่จะประเมินปริมาณรังสีที่เหมาะสมแก่ก้อนมะเร็ง โดยอวัยวะที่ไม่เกี่ยวข้องรอบๆ ก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีน้อยที่สุด
2. เครื่องเร่งอนุภาค : Linear Accelerator ; LINAC (เครื่องฉายรังสี ELEKTA Infinity)
ให้รังสีโฟตอน พลังงาน 6 MV และ 10 MV และรังสีอิเล็กตรอน 6, 9 และ 12 MeV ทำให้สามารถรักษาโรคมะเร็งที่ระดับความลึกแตกต่างกันได้ดี โดยมีอุปกรณ์พิเศษปรับลำแสง (Multileaf Collimator ; MLC) จำนวน 160 ซี่(80 คู่)ในตัวเครื่อง จึงสามารถกำหนดพื้นที่ฉายรังสีได้ตามรูปร่างของก้อนมะเร็ง
โดยฉายรังสีได้หลายเทคนิค ตั้งแต่ Conformal Radiation Therapy (3D - CRT) ไปจนถึงการฉายแบบซับซ้อน เช่น เทคนิคปรับความเข้ม : Intensity Modulated Radiation Therapy (IMRT) เทคนิคปรับความเข้มหมุนรอบตัวผู้ป่วย : Volumetric Modulated Arc Therapy (VMAT) ซึ่งสามารถลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงจะได้รับได้เป็นอย่างดี
1. ก่อนการฉายรังสี
เมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางโรคมะเร็ง และทราบว่าเป็นโรคมะเร็งแน่นอนแล้ว แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาให้แก่ผู้ป่วย หนึ่งในการรักษาก็คือ การฉายรังสี
โดยผู้ป่วยจะได้พบกับแพทย์เฉพาะทางด้านรังสีรักษา ซึ่งแพทย์รังสีรักษาจะทำการซักประวัติต่างๆ ของผู้ป่วย และตรวจประเมินร่างกายผู้ป่วย รวมถึงการตรวจเลือดก่อนการฉายรังสี
ผู้ป่วยทุกคนที่จะได้รับการฉายรังสีด้วยเครื่องเร่งอนุภาคนั้น ทุกคนจะต้องผ่านกระบวนการ 2 อย่างคือ
1) การจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่อง CT - Simulator
- เพื่อหาจุดตำแหน่ง และวางขอบเขตการฉายรังสี เพื่อให้การฉายรังสีฉายโดนก้อนมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- เป็นการจำลองการฉายรังสี โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่าทางที่เหมือนเวลาฉายรังสีจริง
- ในขั้นตอนการจำลองนี้ จะมีการทำอุปกรณ์ยึดตรึงให้แก่ผู้ป่วยเฉพาะรายด้วย ซึ่งอุปกรณ์ยึดตรึงนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยอยู่กับที่ และทำให้การฉายรังสีแม่นยำสูงสุด โดยผู้ป่วยจะต้องใช้อุปกรณ์ยึดตรึงนี้ไปตลอดจนจบคอร์สการฉายรังสี
2) การวางแผนก่อนฉายรังสี : Planning
เมื่อผู้ป่วยจำลองการฉายรังสีด้วย CT - Simulator เสร็จ ทีมแพทย์จะนำภาพทั้งหมดไปวางแผนการฉายรังสี โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อกำหนดตำแหน่งและขนาดของก้อนมะเร็งให้ถูกต้อง กำหนดทิศทางและขอบเขตการฉายรังสี รวมทั้งปริมาณรังสีที่จะฉาย โดยจะให้บริเวณก้อนมะเร็งได้รับรังสีสม่ำเสมอที่สุด ส่วนบริเวณอื่นๆ ได้รับรังสีน้อยที่สุด
2. การฉายรังสีให้ผู้ป่วยกับเครื่องเร่งอนุภาค (LINAC)
- ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าและตำแหน่งการฉายรังสีโดยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ
- เมื่อจัดตำแหน่งการฉายรังสีได้ตามที่กำหนดแล้ว ผู้ป่วยจะถูกเจ้าหน้าที่ตรึงร่างกายไม่ให้ขยับ เพื่อความแม่นยำในการฉาย โดยเจ้าหน้าที่จะควบคุมการฉายรังสีที่ห้องควบคุมที่อยู่ด้านนอกห้องฉายรังสี
- ระหว่างการฉายรังสี หัวเครื่องฉายรังสีจะเคลื่อนที่ไปมาเพื่อให้ลำรังสีพุ่งตรงไปยังก้อนมะเร็ง และจะมีเสียงขณะที่เครื่องปล่อยรังสีออกมา
- ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ หรือแสบร้อนที่ผิว
- ผู้ป่วยสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านทางไมโครโฟนได้ตลอดเวลา
- การฉายรังสีใช้เวลาประมาณ 5-15 นาที แต่ถ้ารวมการจัดท่าทางด้วยจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที
- ผู้ป่วยไม่ต้องนอนรพ. ฉายรังสีแล้วกลับบ้านได้เลย และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ
3. จำนวนครั้งการฉายรังสีของผู้ป่วย
- แพทย์รังสีรักษาจะตรวจประเมินเป็นระยะเพื่อดูการตอบสนองต่อการรักษา หากก้อนมะเร็งยุบลงมากๆ อาจต้องมีการจำลองการรักษาอีกครั้งเพื่อวางแผนการรักษาใหม่ ในบางครั้งอาจต้องหยุดฉายรังสีชั่วคราวถ้าผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงจากการฉายรังสีมาก
- ถ้าไม่มีปัญหาผู้ป่วยควรรับการฉายรังสีอย่างต่อเนื่อง โดยปกติจะฉายรังสี 5 วันต่อสัปดาห์ หยุด 2 วัน และฉายติดต่อกันตั้งแต่ 1 ถึง 8 สัปดาห์
- จำนวนครั้งของการฉายรังสีขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดของโรคมะเร็ง สภาพร่างกายของผู้ป่วย และแผนการรักษา หรือมีการรักษาอื่นร่วมด้วยหรือไม่
4. การติดตามผลการรักษา
- การตรวจทุกสัปดาห์ ช่วงระหว่างการฉายรังสี แพทย์รังสีรักษาจะพบผู้ป่วยทุกสัปดาห์เพื่อประเมินผลข้างเคียง แนะนำวิธีปฏิบัติและตอบคำถามที่ผู้ป่วยและญาติสงสัย
- การนัดตรวจติดตามหลังฉายรังสีครบ การนัดตรวจเลือดและอื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีแรก จะนัดค่อนข้างบ่อย และจะนัดห่างขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้หากผู้ป่วยประสบปัญหาสามารถขอพบแพทย์ก่อนถึงวันนัดได้
5. ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี
- การฉายรังสีมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้มากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับ อายุ สุขภาพ การขาดสารอาหาร หรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เทคนิคการฉายรังสี ปริมาณรังสีที่ได้รับ จำนวนครั้งและตำแหน่งของการฉายรังสี และการรักษาร่วม
- ผลข้างเคียงที่พบบ่อย ได้แก่ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีมีอาการร้อนวูบวาบ แห้ง คัน มีรอยแดงหรือสีผิวคล้ำขึ้น อักเสบบวมแดง อาการเหล่านี้มักเป็นไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เกิดขึ้นชั่วคราว และจะค่อยๆ หายไปหลังการฉายรังสีครบ
- อาการข้างเคียงดังกล่าวสามารถลดหรือป้องกันได้ เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
การดูแลตัวเองในระยะรักษาด้วยรังสี
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และวิตามินสูง เช่น ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ ถั่วต่างๆ ผักและผลไม้ และไม่ควรลดน้ำหนัก
- ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละประมาณ 2,000-3,000 ซีซี. เพื่อระบายความร้อนออกจากร่างกาย
- ดูแลความสะอาดร่างกายทุกส่วนอยู่เสมอ
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ควรแจ้งแพทย์กรณีนอนไม่หลับ
- ออกกำลังกายตามสภาพของร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
- หลีกเลี่ยงแหล่งที่มีผู้คนแออัด
- งดสุรา บุหรี่
- ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย หากิจกรรมที่ชอบทำ เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุยกับผู้อื่น
- ถ้ามีอาการท้องผูก หรือท้องเสีย ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เจ็บปาก เจ็บคอ กลืนลำบาก ผิวหนังอักเสบ ควรแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบ
การดูแลบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี
บริเวณฉายรังสีจะมีความบอบบางเป็นพิเศษ อาจมีอาการอักเสบได้ ควรดูแลดังนี้
- ล้างด้วยน้ำสะอาดและสบู่อ่อนๆ ไม่เช็ดถู ซับให้แห้งด้วยผ้านุ่ม หลีกเลี่ยงอาบน้ำฝักบัวที่แรงดันน้ำสูง
- ไม่ฟอกสบู่บริเวณที่ขีดเส้นเพราะจะทำให้เส้นลบเลือนได้ กรณีเส้นเลือนจางให้แจ้งเจ้าหน้าที่ ห้ามขีดเส้นที่ลบเลือนด้วยตัวเอง
- หลีกเลี่ยงการใช้โลชั่น น้ำหอม แป้ง ครีมและเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือโลหะหนักเพราะจะทำให้ผิวแห้งระคายเคืองมากขึ้น
- ห้ามขัดถู แกะ เกา หรือประคบร้อน-เย็นบริเวณฉายรังสี ห้ามปิดพลาสเตอร์ ห้ามทายาหม่อง
- สวมเสื้อผ้าที่หลวม นุ่ม เพื่อลดการเสียดสีที่ผิวหนัง
- ไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล และไม่ควรว่ายน้ำในสระ เพราะคลอรีนจะทำให้ผิวแห้งเกิดการระคายเคืองได้ง่าย
- หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยสวมเสื้อผ้า หมวก หรือกางร่มทุกครั้ง
การดูแลตัวเองหลังฉายรังสีครบ
- ดูแลตัวเองเหมือนกับช่วงการฉายรังสีต่อไปอีกประมาณ 1 เดือน
- ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ไข้สูง เลือดออกผิดปกติ ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนรุนแรง คลำเจอเนื้องอกเกิดขึ้นใหม่ให้ติดต่อพบแพทย์ด่วน
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
โภชนาการ ส่วนสำคัญของผู้ป่วยมะเร็ง
การเตรียมตัวที่ดีที่สุดของผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเข้ารับการรักษา คือการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอตามหลักโภชนาการ เพราะมีความสำคัญดังนี้
- ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพียงพอที่จะป้องกันเนื้อเยื่อส่วนที่ดีจากการถูกทำลายอันเนื่องมาจากการรักษา
- ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษา
- ป้องกันการขาดสารอาหารอันจะนำไปสู่โรคแทรกซ้อนได้ง่าย
- ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากการเจ็บป่วยที่เกิดจากการรักษาได้เร็วขึ้น
ถ้าได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวลดลง จะทำให้ผู้ป่วยอ่อนแอ เหนื่อยง่าย ภูมิต้านทานลดลงและติดเชื้อง่าย ส่งผลเสียต่อการบำบัดรักษาได้
อาหารที่ควรรับประทาน
- อาหารปรุงสุกใหม่ สะอาด มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไอเดรต เกลือแร่ วิตามินและไขมัน
- กินเนื้อสัตว์ให้หลากหลายชนิด โดยเลือกที่ไม่ติดมัน ส่วนเนื้อปลาเป็นโปรตีนคุณภาพดี ย่อยง่าย ไขมันต่ำ ควรกินบ่อย
- ควรกินไข่ทุกวันโดยเฉพาะไข่ขาว และนมโปรตีนสูงรสจืด
- ผู้ป่วยที่กินมังสวิรัติ ควรกินไข่ และนมเพื่อเสริมโปรตีน
- กินผัก และผลไม้หลากสีเป็นประจำ เช่น ตำลึง ผักโขม บร็อคโคลี่
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง
- อาหารไม่สด ไม่สะอาด หรือทิ้งไว้ข้ามคืน
- อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ หมักดอง ส้มตำ ยำ ที่อาจทำให้ท้องเสีย
- เนื้อสัตว์แปรรูปที่มีการเติมสารกันบูด เช่น ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง แหนม เพราะมีการวิจัยพบว่ามีส่วนกระตุ้นเซลล์มะเร็ง
- ในช่วงระหว่างการรักษา งดผักผลไม้ที่กินได้ทั้งเปลือก เช่น องุ่น ชมพู่ ให้เลือกกินผลไม้ที่ปอกเปลือกได้ เช่น แอปเปิ้ล มะละกอ กล้วย ส้มโอ
เบอร์โทร
โทร : 043-002-088
เวลาทำการ
เปิดบริการ ทุกวัน
จ-ศ เวลา : 8.00 - 20.00 น.
ส-อา เวลา : 8.00 - 16.00 น.
สถานที่ตั้ง
อาคารศูนย์รังสีรักษา หลังหอพักอาคาร 2