degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
11/11/2018

โรคหัดเยอรมัน เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะไข้ออกผื่น พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการมีได้หลากหลายตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงขั้นเสียชีวิต

โรคหัดเยอรมัน


โรคหัดเยอรมัน - rubella, German measles เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะไข้ออกผื่น พบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ อาการมีได้หลากหลายตั้งแต่ไม่แสดงอาการไปจนถึงขั้นเสียชีวิต

สาเหตุ

เกิดจากเชื้อไวรัสหัดเยอรมัน - rubella virus ติดต่อจากการสัมผัสโดยตรง หรือสัมผัสละอองของสารคัดหลั่งจากระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วย โดยแพร่เชื้อได้ตั้งแต่ก่อนมีผื่นขึ้น 7 วันเรื่อยไปจนถึงหลังมีผื่นขึ้น 7 วัน และยังติดต่อจากแม่ไปสู่เด็กในครรภ์ได้อีกด้วย

การระบาด

โรคหัดเยอรมันถูกพบน้อยลงมากในสหรัฐอเมริกา หลังจากมีวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (measles-mumps-rubella vaccine) แต่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในประเทศไทยข้อมูลล่าสุดของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 – 29 ตุลาคม 2561 พบรายงานผู้ป่วยโรคหัดเยอรมัน 264 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 0.40 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 0 ราย อัตราส่วนชายต่อหญิง 1:1.26 กลุ่มอายุพบมาก 3 อันดับแรกได้แก่ 25-34 ปี (ร้อยละ 26.52) 15-24 ปี (ร้อยละ 20.45) และ 35-44 ปี (ร้อยละ 11.74)

อาการ

โรคหัดเยอรมันมีระยะฟักตัวของโรค 12-23 วัน เฉลี่ย 14 วัน ร้อยละ 25-50 ของผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการ ส่วนอาการของโรคมีได้หลากหลาย เช่น มีไข้ ตาแดง เจ็บคอ มีน้ำมูกคัดจมูก อ่อนเพลีย มีผื่นขึ้นที่ใบหน้าและลำตัว ต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น โดยผื่นและต่อมน้ำเหลืองโตหายได้เองใน 3-5 วันและ 5-8 วันตามลำดับ

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยคือ ปวดข้อ และข้ออักเสบพบได้สูงถึงร้อยละ 70 ของผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคหัดเยอรมัน และอื่นๆ เช่น เกร็ดเลือดต่ำ และสมองอักเสบ เป็นต้น

" นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจส่งผลให้เด็กเกิดมามีกลุ่มอาการโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด เช่น ต้อกระจก หูหนวก และหัวใจพิการ หรือเกิดการแท้งได้ "


การวินิจฉัย

วินิจฉัยจากประวัติการสัมผัสโรค อาการที่เข้าได้กับโรคหัดเยอรมัน ร่วมกับการตรวจเลือด สารคัดหลั่งจากคอหรือจมูกทางห้องปฏิบัติการ

การรักษา

ปัจจุบันยังไม่มียารักษา จึงรักษาประคับประคองตามอาการ

การแยกโรค

ผู้ป่วยโรคหัดเยอรมันควรแยกโรค 7 วันหลังจากเริ่มมีผื่นขึ้น ส่วนผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยหรือเดินทางไปในที่มีการระบาดของโรคหัดเยอรมันควรเฝ้าสังเกตอาการ 23 วัน ถ้ามีไข้ ออกผื่นควรรีบพบแพทย์ทันที

การป้องกัน

โรคหัดเยอรมันป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ในผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 ครั้ง ประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคหัดเยอรมันสูงถึงร้อยละ 97 ข้อห้ามของการฉีดวัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม เช่น ตั้งครรภ์หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เป็นต้น

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม