degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label

สำรวจพฤติกรรมตัวเองและคนที่คุณรัก ก่อนที่จะสายเกินแก้

ภัยเงียบจาก NCDs โรคจากพฤติกรรม

โรค NCDs ; Non-Communicable Diseases คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค และไม่สามารถติดต่อกันได้ โดยจะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ มีอาการอย่างต่อเนื่อง และเรื้อรังในที่สุด หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย และคนรอบข้าง

สาเหตุของโรค NCDs

ส่วนใหญ่เกิดจากการดำเนินชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่
  • บริโภคอาหารรสหวานจัด ไขมันสูง หรือเค็มจัด
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • สูบบุหรี่
  • ขาดการออกกำลังกาย
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเครียด
  • ซื้อยามารับประทานเอง

ความรุนแรงของโรค NCDs

โรค NCDs เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนไทยป่วยด้วยโรค NCDs 14 ล้านคน เสียชีวิตมากกว่า 340,000 ราย/ปี หรือ 75% ของการเสียชีวิตในแต่ละปีของคนไทยทั้งหมด คิดเป็นเสียชีวิตเฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน และมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี

ตัวอย่างโรค NCDs และอาการเตือนที่ควรระวัง ได้แก่
  • โรคเบาหวาน อาการเตือน ได้แก่ ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เป็นแผลแล้วหายยาก
  • โรคความดันโลหิตสูง อาการเตือน ได้แก่ ปวดศีรษะบ่อย หลังตื่นนอนจะมึนงง ตาพร่ามัว เหนื่อยง่าย ใจสั่น
  • โรคหลอดเลือดสมอง อาการเตือน ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง ชาที่ปลายมือปลายเท้า ปากเบี้ยว พูดลำบาก
  • โรคหัวใจขาดเลือด อาการเตือน ได้แก่ ปวดแน่นบริเวณหน้าอก จุกที่คอหอยหรือลิ้นปี่ หน้ามืด ใจสั่น
  • โรคถุงลมโป่งพอง อาการเตือน ได้แก่ ไอเรื้อรัง เป็นหวัดง่ายหายช้า เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงวี้ด
  • โรคมะเร็ง อาการเตือน ได้แก่ เป็นแผลเรื้อรังไม่หาย มีตุ่มก้อนที่โตเร็วผิดปกติ ระบบขับถ่ายมีปัญหา มีเลือดออกมาอย่างผิดปกติ
  • โรคอ้วนลงพุง อาการเตือน ได้แก่ ผู้ชายมีรอบเอวเกิน 90 ซม.และผู้หญิงรอบเอวเกิน 80 ซม. เหนื่อยง่าย ข้อเข่ารับน้ำหนักไม่ไหว
การป้องกันและลดความเสี่ยงโรค NCDs โดยการปรับพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ได้แก่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด หรือไขมันสูง
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ผ่อนคลายความเครียด
  • หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยามารับประทานเอง
  • ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ

ปัญหาของโรค NCDs เหล่านี้ จัดว่าเป็นภัยเงียบ ที่ซ่อนอยู่ในตัวเราจริงๆ และมักจะไม่แสดงอาการให้เห็นตั้งแต่เริ่มต้น แต่เราสามารถเริ่มต้นดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเหล่านี้ได้ตั้งแต่วันนี้

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม