degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label


ท้องผูกในเด็ก

ภาวะท้องผูก (Constipation) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในเด็ก และเป็นปัญหาที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยความหมายของท้องผูกอาจจะแตกต่างกันระหว่างมุมมองของผู้ดูแลกับแพทย์

นิยามของท้องผูกในเด็ก

ภาวะท้องผูกในเด็ก หมายถึง การอุจจาระน้อยกว่าหรือเท่ากับ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ อาการอุจจาระแข็งร่วมกับมีอาการเจ็บปวด ต้องเบ่งถ่ายมาก หรือมีเลือดปน ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะอุจจาระทุกวัน หรือวันละ 2-3 ครั้งก็ตาม

แต่ในเด็กทารกวัย 1-2 เดือนที่ได้รับนมมารดาอย่างเดียว อาจจะอุจจาระวันละหลายครั้ง หรือหลายวันครั้งก็ได้ โดยทารกกลุ่มนี้จะไม่มีอาการผิดปกติอื่นใด ดูดนมได้ดี น้ำหนักขึ้นตามปกติ บางรายอาจไม่อุจจาระนาน 5-10 วันก็ได้

ดังนั้นการวินิจฉัยท้องผูกในทารกแรกเกิดจะไม่ดูที่ความถี่ในการอุจจาระอย่างเดียว ต้องอาศัยประวัติและการตรวจร่างกายร่วมด้วย

สาเหตุของท้องผูก

ปัญหาท้องผูกเรื้อรังมักจะเกิดจากหลายปัจจัยและแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย อาจจะเกิดจากความผิดปกติของลำไส้เอง จากปัจจัยทางด้านจิตใจ การฝึกขับถ่ายที่ไม่ถูกต้อง หรือโรคทางกายอื่นๆ

ในทารกหรือเด็กเล็กจำเป็นต้องหาโรคที่เป็นสาเหตุก่อน หรือบางครั้งอาจเกิดจากภาวะแพ้โปรตีนจากนมวัว แต่ในเด็กโตส่วนใหญ่มักจะไม่พบสาเหตุ (Functional constipation)

แต่เกิดจากการพฤติกรรมกลั้นอุจจาระ เนื่องจากกลัวเจ็บขณะขับถ่าย หรือกลั้นเนื่องจากไม่มีเวลา ต้องรีบไปโรงเรียน ไม่ยอมเข้าห้องน้ำที่โรงเรียน ทำให้มีอุจจาระค้างในลำไส้ใหญ่มาก ความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระจะค่อยๆ ลดลง (ประสาทรับความรู้สึกที่ผนังลำไส้ใหญ่ตอบสนองต่อความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระลดลง)

อุจจาระสะสมมาก ก้อนใหญ่ และแข็งขึ้น ทำให้เวลาขับถ่ายลำบาก และเจ็บปวด หรือเกิดบาดแผล มีเลือดออก ยิ่งทำให้กลั้นอุจจาระ เป็นวงจรทำให้ท้องผูกมากขึ้น นานขึ้น และต้องใช้เวลารักษาที่ยาวนานมากขึ้น

รูปแสดงลักษณะของอุจจาระเด็ก

การรักษา

การรักษาท้องผูกเรื้อรังในเด็ก จำเป็นที่ผู้ปกครองต้องยอมรับว่าผู้ป่วยมีภาวะท้องผูกเรื้อรังก่อน และต้องทราบถึงลักษณะของท้องผูก ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาการ อาหารที่ควรกระตุ้นให้เด็กทาน โดยเฉพาะอาหารที่มีกากใย การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ การฝึกขับถ่ายอย่างเหมาะสม และการใช้ยาที่เหมาะสม รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ปกครองและคุณครู

สำหรับทารก และเด็กเล็ก ควรงดการกระตุ้นการอุจจาระโดยใช้แท่งสวน หรือกลีเซอรีนแท่งโดยไม่จำเป็น เนื่องจากอาจทำให้เด็กเกิดความคุ้นเคยกับการขับถ่ายด้วยการกระตุ้นที่ทวารหนัก หรือบางรายอาจกลัวการสอดใส่สิ่งแปลกปลอมเข้าทางทวารหนัก ทำให้เด็กต่อต้าน และนำไปสู่พฤติกรรมการกลั้นอุจจาระไม่กล้าขับถ่ายได้ในที่สุด

ระยะเวลาในการรักษาโรคท้องผูกเรื้อรัง อาจต้องใช้เวลานาน 2-3 เดือน บางรายอาจใช้เวลาเป็นปีในการใช้ยารักษา โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีกระตุ้นการขับถ่าย และเลือกใช้ยาที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย


© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม