degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

ไข้เลือดออกระบาดแล้ว รู้ทัน ป้องกันโรคไข้เลือดออก ก่อนจะสายเกินไป

ไข้เลือดออก อันตรายทั้งเด็ก และผู้ใหญ่


ไข้เลือดออกเดงกี่เดิมทีส่วนใหญ่เป็นในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี แต่ปัจจุบันพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่เท่าๆ กัน

พาหะนำโรค คือยุงลาย อาการจะคล้ายกับไข้หวัด ในช่วงแรก ทำให้คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้หวัด

และมีคนไม่น้อยที่ ไม่รู้ว่าไข้เลือดออกอันตรายแค่ไหน หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงทีอาการอาจทรุดหนัก

บางคนรักษาที่โรงพยาบาลไม่กี่วันก็หาย แต่ผู้ป่วยบางรายอาการรุนแรงมากจนช็อกและเสียชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของผู้ป่วย

ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนจึงพบยุงลายได้ชุกชุม อาจพบโรคนี้ประปรายตลอดปีและระบาดช่วงฤดูฝนเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน แหล่งที่ยุงลายเพาะพันธุ์คือ น้ำนิ่งที่ขัง ในโอ่ง ยางรถยนต์ แจกัน กระป๋อง กระถาง เป็นต้น

โรคไข้เลือดออกเดงกี่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ (Dengue hemorrhagic fever) พบระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์ในพ.ศ. 2497 จากนั้นพบว่ามีการระบาดครั้งแรกในประเทศไทยพ.ศ. 2501 และระบาดทุกปีช่วงฤดูฝน คือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค

สาเหตุ

เชื้อไวรัสเดงกี่ แพร่จากคนหนึ่งไปอีกคนหนึ่งได้โดยมียุงลายเป็นพาหะของโรค ยุงลายสายพันธุ์ Aedes aegypty เป็นยุงที่อยู่ใกล้ชิดคนมาก

โดยยุงลายตัวเมียจะดูดเลือดคนที่มีเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่ในกระแสเลือด (ช่วงที่มีไข้สูง) เข้าไป เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8-10 วัน

หลังจากนั้นยุงลายจะเก็บเชื้อไว้ที่ต่อมน้ำลายเตรียมพร้อมที่จะปล่อยเชื้อไวรัสเดงกี่ให้กับคนที่ถูกกัดคนต่อไปได้ตลอดอายุของยุงตัวเมีย 30-45 วัน

ยุงลายมีขนาดเล็กสีขาวสลับดำ แหล่งเพาะพันธุ์คือภาชนะขังน้ำที่คนทำขึ้นและมีน้ำขังเกิน 7 วัน โดยเป็นน้ำที่ใสและนิ่ง ไข่จะฟักเป็นลูกน้ำภายใน 2 วัน จากลูกน้ำเป็นตัวโม่ง 6-8 วัน และจากตัวโม่งประมาณ 1-2 วันจะเป็นยุงตัวเต็มวัยพร้อมไปหาอาหาร และผสมพันธุ์

ยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน พบอยู่ภายในบ้านและรอบๆ บ้าน มีระยะบินไม่เกิน 50 เมตร จะพบยุงลายชุกชุมมากในฤดูฝน

ยุงลาย

อาการ

หลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5-8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรค ซึ่งมีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่มีอาการไข้ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนช็อก และเสียชีวิตได้

  1. ไข้สูงอย่างเฉียบพลัน 38.5 – 41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชักมาก่อน หรือในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 18 เดือน
  2. อาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง โดยมีจุดเลือดออกเล็กๆ กระจายตัวตามลำตัว แขน ขา ในรายที่รุนแรงอาจอุจจาระเป็นเลือด สีดำ และช็อกได้
  3. ตับโต กดเจ็บ โดยคลำพบตับโตประมาณวันที่ 3-4 นับจากเริ่มป่วย
  4. ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เกิดภาวะการไหลเวียนของเลือดล้มเหลว หรือภาวะช็อก มีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง

การรักษา

ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับไข้เลือดออก การรักษาตามอาการ และประคับประครองซึ่งได้ผลดี โดยผู้ป่วยควรพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการระยะแรก

การดูแลผู้ป่วย

  • ระยะไข้สูง - ยาลดไข้ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน และยาลดไข้สูงจำพวก Ibuprofen เพราะอาจจะทำให้เกล็ดเลือดทำงานผิดปกติ และอาจระคายกระเพาะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น และที่สำคัญอาจทำให้เกิดอาการทางสมอง (Reye syndrome)
  • ควรใช้การเช็ดตัวช่วยลดไข้ร่วมด้วย เพราะการใช้ยาลดไข้มากเกินไป จะมีภาวะเป็นพิษต่อตับได้ และควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือแร่มากๆ จะช่วยให้ไข้ลดต่ำลงได้บ้าง
  • ต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา โดยภาวะช็อกมักจะเกิดขึ้นพร้อมกับไข้ลดลง

ดังนั้นหากพบผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหารมาก ไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ถ่ายปัสสาวะน้อยลง ซึมลง มีเลือดออก มีอาการปวดท้องมาก กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ควรแนะนำให้ส่งโรงพยาบาลทันที

  • พบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจเช็คเกล็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด

การป้องกัน ทำอย่างไร ไม่ให้เป็นโรคไข้เลือดออก

  • กำจัดยุงที่เป็นพาหะนำโรค โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
    • คว่ำและปิดฝาภาชนะไม่ให้มีน้ำขังป้องกันยุงมาวางไข่
    • ใส่ทรายอะเบท (Abate) ตามภาชนะใส่น้ำ
    • เลี้ยงปลาให้กินลูกน้ำ
  • ป้องกันการติดเชื้อ
    • แต่งกายมิดชิด สวมเสื้อกางเกงขายาวเมื่อออกนอกบ้าน ฉีดสเปรย์หรือทาครีมป้องกันยุง
    • นอนกางมุ้ง
  • สร้างภูมิคุ้มกันที่ดี กินอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการควบคู่กับการออกกำลังกาย
  • การฉีดวัคซีน ในประเทศไทยคือ Dengvaxia ในกลุ่มช่วงอายุ 9-45 ปี จำนวน 3 เข็ม 0,6,12 เดือน โดยแนะนำในผู้ที่เคยติดเชื้อมาก่อน รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม