degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

ภาวะตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดไม่ใช่โรค แต่เป็นอาการที่เกิดจากการสะสมสารสีเหลืองที่มีชื่อว่า บิลลิรูบิน ในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ ร่วมกับตับของทารกแรกเกิดยังไม่สมบูรณ์มากพอที่จะกำจัดบิลลิรูบินออก จากร่างกายได้ สารสีเหลืองนี้จะไปเกาะตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้ทารกมีอาการสีผิวเหลืองหรือตาเหลือง

อันตรายจากภาวะตัวเหลืองในทารก

สารสีเหลืองที่มีมากเกินไปจะไปเกาะเซลล์สมอง ทำให้เกิดความผิดปกติสมอง (Kernicterus) ทำให้มีอาการซึม ไม่ดูดนม อาเจียน ร้องเสียงแหลม ชัก หยุดหายใจ และอาจทำให้ถึงขั้นปัญญาอ่อนได้ถ้าไม่รักษาให้ทันเวลา

ภาวะตัวเหลืองที่พบในทารกแรกเกิด แบ่งได้ 2 ชนิด
  1. ตัวเหลืองตามธรรมชาติ พบตัวเหลืองภายหลัง 24 ชั่วโมง หลังคลอด และหายเหลืองได้เองภายใน 1–2 สัปดาห์ โดยทารกสุขภาพแข็งแรงปกติดี
  2. ตัวเหลืองมากกว่าปกติ จากหลายสาเหตุ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่ได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ กลุ่มเลือดมารดาและทารกไม่เข้ากัน ภาวะพร่องเอนไซม์ G-6PD โรคท่อน้ำดีอุดตัน ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น มักตัวเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หรือตัวเหลืองนานกว่า 1–2 สัปดาห์ และอาจมีอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย เช่น ซึม ไม่ดูดนม เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะตัวเหลือง

โดยทั่วไปกุมารแพทย์จะตรวจร่างกายโดยดูจากสีผิว สีตา รวมถึงสีอุจจาระ หากพบว่ามีอาการตัวเหลืองมาก จะเจาะเลือดเพื่อตรวจวัดระดับของสารสีเหลือง หากพบว่ามีค่าสารเหลืองมากกว่าเกณฑ์ปกติ จะต้องได้รับการรักษาตามขั้นตอนต่อไป

การรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

  1. ส่องไฟรักษาด้วยแสงสีฟ้าที่มีความเข้มสูง จะช่วยเปลี่ยนสภาพของสารสีเหลืองให้ขับออกทางอุจาระ และปัสสาวะได้ง่าย ซึ่งแสงแดดธรรมชาติไม่สามารถรักษาภาวะนี้ได้
  2. เปลี่ยนถ่ายเลือด เป็นการนำเอาเลือดที่มีสารสีเหลืองออกจากตัวทารก แล้วให้เลือดใหม่แทน วิธีนี้จะใช้กับทารกที่มีระดับสารเหลืองสูงมาก และไม่ตอบสนองการรักษาแบบส่องไฟรวมถึงทารกที่มีอาการทางสมอง

วิธีปฏิบัติตัวและป้องกันภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

  • ให้ทารกดูดนมแม่ หรือนมอย่างน้อย 8–12 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องให้ทารกดื่มน้ำเพราะนอกจากไม่ช่วยกำจัดสารเหลือง แล้วยังทำให้ทารกดื่มนมได้น้อยลงจนได้รับนมไม่เพียงพอ
  • สังเกตทารกตัวเหลืองอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ในที่ที่มีแสงสว่างเหมาะสม วิธีตรวจง่ายๆ คือ ใช้นิ้วรีดผิวหนังบริเวณหน้าท้องหรือต้นขาของทารก หากพบว่าเหลืองแสดงว่ามีอาการตัวเหลืองมากผิดปกติควรรีบพาทารกไปพบแพทย์
หากสังเกตเห็นทารกมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์
  • ตัวเหลืองเข้มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือตาเหลืองชัด
  • อายุเกิน 1 สัปดาห์ แล้วแต่ยังมีอาการตัวเหลืองอยู่
  • ถ่ายอุจจาระมีสีซีด ปัสสาวะสีเข้มกว่าปกติ
  • ตัวเหลืองมากร่วมกับซึม ไม่ยอมดูดนม หลับเป็นส่วนใหญ่ เกร็ง ชัก ให้รีบนำทารกพบแพทย์



© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม