degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

เมื่อถูกไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก การปฐมพยาบาลที่ถูกวิธีนั้นจำเป็นมาก

การปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้

บาดแผลที่เกิดจากความร้อน เช่น แผลไฟไหม้ แผลไฟฟ้าช็อต ถูกสารเคมีกรดด่าง วัตถุที่ร้อน แผลน้ำร้อนลวก ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะเวลาที่ผิวหนังสัมผัสกับความร้อน ขนาดความกว้าง ความลึก และตำแหน่งของบาดแผล

ถ้าอาการเป็นเพียงเล็กน้อยจะค่อยๆ หายได้เอง แต่ถ้าการบาดเจ็บระดับรุนแรง อาจติดเชื้อ และมีภาวะแทรกซ้อนตามมา ซึ่งทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

C:\Users\User\Desktop\burn.2 jpg.jpg C:\Users\User\Desktop\ไฟฟ้าช็อต.jpg

  1. ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิปกติ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่าน หรือแช่อวัยวะส่วนที่เป็นแผลลงในน้ำสะอาดประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง
  2. ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือผ้าแห้งสะอาด
  3. ถ้ายังมีอาการปวดแสบปวดร้อนหรืออาการเป็นมากขึ้น ผิวหนังมีรอยถลอก มีตุ่มพองใส หรือมีสีของผิวหนังเปลี่ยนไป ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล

ข้อควรทราบ และพึงระวัง

  • ห้ามใส่ตัวยาหรือครีมใดๆ ทาลงบนบาดแผลถ้ายังไม่แน่ใจในสรรพคุณที่ถูกต้องของยาชนิดนั้น และห้ามใช้ยาสีฟัน น้ำปลา เครื่องปรุง หรือยาหม่องทา เพราะอาจติดเชื้อและรักษายากขึ้น
  • ถ้าไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า จะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะบริเวณใบหน้ามักจะเกิดอาการระคายเคืองจากยาที่ใช้ ห้ามใส่ยาใดๆ ก่อนถึงมือแพทย์ เพราะผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการตอบสนองต่อตัวยาไม่เหมือนกัน จะต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์
  • บาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกที่เกิดในเด็กและผู้สูงอายุ ถึงแม้จะมีขนาดไม่กว้างมาก แต่ก็อาจมีอันตรายมากกว่าที่พบในคนหนุ่มสาว ดังนั้นแนะนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทุกราย

ระดับความรุนแรงของแผลไหม้ แบ่งตามความลึกของแผลได้ 3 ระดับคือ

  1. แผลไหม้ระดับแรก - First degree burn ผิวหนังมีสีแดง ไม่มีถุงน้ำพองใส มีอาการปวดแสบ และกดเจ็บ
  2. แผลไหม้ระดับที่สอง - Second degree burn ผิวหนังมีถุงน้ำพองใสเกิดขึ้น ถ้าผนังของถุงน้ำแตก จะเห็นผิวหนังสีชมพูหรือแดง และมีน้ำเหลืองซึม ขนจะติดกับผิวหนัง และมีอาการปวดแสบแผล ความยืดหยุ่นของผิวหนังยังปกติอยู่
  3. แผลไหม้ระดับที่สาม - Third degree burn ผิวหนังจะถูกทำลายตลอดชั้นความหนาของผิวหนัง ซึ่งจะแห้ง แข็ง ไม่มีความยืดหยุ่น เส้นเลือดบริเวณผิวหนังอุดตัน ขนหลุดจากผิวหนัง ไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด

รูปแผลไหม้ระดับแรก

รูปแผลไหม้ระดับสอง

รูปแผลไหม้ระดับสาม

การดูแลตนเองหลังรับการรักษา

    • รักษาความสะอาดของแผล
    • หมั่นทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นหรือสัตว์ทุกชนิด เพราะจะทำให้เกิดการระคายเคืองหรือมีการติดเชื้อได้ง่าย
    • รับประทานอาหารโปรตีนสูงให้มาก เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่างๆ เพื่อช่วยเสริมการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ให้บาดแผลสมานปิดเร็วขึ้น
    • เมื่อแผลหายดีแล้วต้องใช้ครีมกันแดดเป็นเวลา 3-6 เดือน และทาโลชั่นเพื่อลดอาการแห้งและคัน

ปัจจุบันการดูแลรักษาบาดแผลไฟไหม้มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก การเลือกใช้วัสดุปิดแผลอย่างถูกต้อง และคุณภาพดี รวมทั้งการดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์จะทำให้บาดแผลหายเร็วขึ้น ลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงได้มาก และการเกิดแผลเป็นลดลง ดังนั้นหากมีบาดแผลไฟไหม้ ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์โดยเร็ว


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม