degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed


การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้อง เป็นการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยการอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ของการมองเห็นภาพผ่านกล้องขยาย ทำให้เห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะที่จะผ่าตัดได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ร่วมกับการพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก และยาว สามารถสอดใส่เข้าไปในโพรงช่องท้องเพื่อทำการผ่าตัดถุงน้ำดีได้อย่างปลอดภัย และลดขนาดของแผลผ่าตัด ลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆ บริเวณผนังหน้าท้องได้มาก

ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกเจ็บแผลลดลง ใช้เวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดสั้นลง สามารถกลับไปดำเนินชีวิตตามปกติได้รวดเร็ว แตกต่างจากวิธีการผ่าตัดถุงน้ำดีแบบดั้งเดิมที่ต้องผ่าตัดเปิดแผลที่หน้าท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาขนาดใหญ่ เพื่อเข้าไปทำการตัดถุงน้ำดีออก แต่การผ่าตัดแบบนี้ต้องอาศัยความชำนาญ และประสบการณ์ของศัลยแพทย์ร่วมด้วยอย่างมาก

เมื่อไรจึงต้องทำการผ่าตัดถุงน้ำดีออก?

ศัลยแพทย์จะแนะนำผู้ป่วยให้รับการผ่าตัดถุงน้ำดี เมื่อถุงน้ำดีของผู้ป่วยรายนั้นๆ เป็นโรค ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น นิ่วในถุงน้ำดีที่ทำให้มีอาการท้องอืด แน่นท้องหลังจากกินอาหารไขมัน หรือปวดท้องใต้ชายโครงขวา มีไข้

เมื่อเกิดถุงน้ำดีอักเสบขึ้นเฉียบพลัน หรือกรณีที่ผนังถุงน้ำดีมีก้อนเนื้องอกที่อาจรบกวนการทำงานของถุงน้ำดี หรือในรายที่สงสัยว่าก้อนเนื้องอกนั้นอาจเป็นเนื้อร้าย การทำการผ่าตัดถุงน้ำดีออกจึงเป็นการรักษา และป้องกันปัญหาจากโรคของถุงน้ำดีที่ผิดปกติได้

รู้จักถุงน้ำดีและน้ำดี

ในระบบการย่อยอาหารของมนุษย์ เมื่อกินอาหาร การเคี้ยวอาหารร่วมกับการหลั่งน้ำลาย จะช่วยในการย่อยอาหารจำพวกแป้งได้เล็กน้อย ส่วนใหญ่ของอาหารจะถูกย่อยในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก

โดยน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร และน้ำดีจากถุงน้ำดีมาช่วยในการย่อย เมื่ออาหารที่ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กมาก คลุกเคล้ากับน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร และน้ำดี จะทำให้อาหารสามารถถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเพื่อนำไปใช้ประโยชน์แก่ร่างกายต่อไป

ตามปกติน้ำดีถูกสร้างจากตับมาเก็บไว้ในถุงน้ำดี และถูกปล่อยออกจากถุงน้ำดีลงมาที่ลำไส้เล็กส่วนต้นเพื่อย่อยอาหารไขมัน เมื่อมีการกระตุ้นจากอาหารที่ลงมาสู่กระเพาะอาหาร

กายวิภาคของตับ และท่อน้ำดี

ตับคนเรามี 2 กลีบ กลีบขวาใหญ่กว่ากลีบซ้าย ตับอยู่บริเวณชายโครง มีหน้าที่หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการสร้างน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อย และดูดซึมอาหารไขมัน

เมื่อตับสร้างน้ำดีจะส่งต่อลงมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงแยกมาจากท่อน้ำดีรวม ซึ่งท่อน้ำดีรวมจะเทลงสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น โดยมีรูเปิดร่วมกับท่อตับอ่อน

เมื่อมีอาหารลงมาสู่กระเพาะอาหารจะกระตุ้นให้มีการบีบตัวของถุงน้ำดีเพื่อปล่อยน้ำดีลงมาตามท่อน้ำดีรวม ลงสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นเพื่อช่วยในการย่อยอาหารต่อไป


โรคของถุงน้ำดีที่พบบ่อย

1.นิ่วในถุงน้ำดี

เนื่องจากถุงน้ำดีมีลักษณะเป็นถุง และทำหน้าที่เก็บน้ำดีที่สร้างจากตับไว้ เพื่อรอเวลาบีบตัวปล่อยน้ำดีลงมาช่วยย่อยอาหาร น้ำดีในถุงน้ำดีจึงมีโอกาสตกค้างในถุงน้ำดีเป็นเวลานานๆ ก่อนที่จะถูกปล่อยออกมาจากถุงน้ำดี หากส่วนประกอบในน้ำดีผิดปกติ จะทำให้เกิดมีการตกตะกอน และรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่วในถุงน้ำดี

ซึ่งมีลักษณะเป็นสิ่งแปลกปลอมในถุงน้ำดี เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเชื้อโรค และตัวนิ่วจะทำให้มีการบาดเจ็บที่ผนังถุงน้ำดีเรื้อรัง ทำให้เกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง เป็นผลให้การบีบตัวของถุงน้ำดีผิดปกติ ทำให้น้ำดีลงมาที่ลำไส้เล็กลดลง ในบางกรณี นิ่วในถุงน้ำดีอาจไปอุดกั้นท่อถุงน้ำดี ทำให้น้ำดีไม่สามารถผ่านลงไปยังท่อน้ำดีได้ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดจุกบริเวณชายโครงขวาเวลากินอาหาร ร่วมกับมีอาการท้องอืดหลังจากกินอาหารมื้อใหญ่

นิ่วในถุงน้ำดีอาจทำให้เกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลันซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวามาก ร่วมกับอาการไข้ และอาจทำให้เกิดถุงน้ำดีเป็นหนอง และแตกทะลุได้ เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน นิ่วในถุงน้ำดียังอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่ผนังถุงน้ำดีเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งของถุงน้ำดีได้

แม้โอกาสจะไม่สูงมากก็ตาม ดังนั้นหากตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดีร่วมกับมีอาการท้องอืดหลังกินอาหารไขมัน ถือเป็นข้อบ่งชี้ในการเข้ารับการรักษา

2. เนื้องอกผนังถุงน้ำดี

ผนังถุงน้ำดีประกอบด้วยเซลล์เนื้อเยื่อหลายชั้น ซึ่งแต่ละชั้นอาจมีความผิดปกติเป็นเนื้องอกขึ้นมาได้ ที่พบบ่อยๆ คือเนื้องอกของผนังเยื่อบุน้ำดี - Gall bladder polyp มักมีขนาดเล็ก และมีจำนวนมากกว่า 1 ได้ หากเนื้องอกมีขนาดเล็ก และผู้ป่วยไม่มีอาการ

อาจสังเกตอาการของผู้ป่วยต่อไปได้ แต่หากมีขนาดใหญ่กว่า 7 ม.ม. ควรได้รับการรักษาเนื่องจากมีโอกาสที่เนื้องอกจะเป็นเนื้อร้ายได้สูง เนื้อร้ายของถุงน้ำดีมักไม่มีอาการในระยะเริ่มแรก ทำให้การวินิจฉัยโรคทำได้ยาก

การรักษาโรคของถุงน้ำดี

ถุงน้ำดีเมื่อมีโรค เช่น นิ่วถุงน้ำดี จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังแล้ว การทำงานของถุงน้ำดีจะผิดปกติ แม้จะกำจัดสาเหตุ เช่น นิ่วถุงน้ำดีออกแล้วก็ตาม แต่ถุงน้ำดีก็ยังจะทำงานผิดปกติ หรือก่อให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นใหม่อีกได้

ดังนั้นการรักษาจึงนิยมทำการผ่าตัดถุงน้ำดีที่มีโรคพร้อมกับสาเหตุ เช่น นิ่วในถุงน้ำดีออกพร้อมกันเลย หรือในกรณีเนื้องอกของถุงน้ำดี ในกรณีมีข้อบ่งชี้ เช่น มีอาการและขนาดของเนื้องอกใหญ่ก็นิยมทำการผ่าตัดถุงน้ำดีออก เพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อของถุงน้ำดีอย่างละเอียดว่ามีเนื้อร้ายหรือไม่

การผ่าตัดถุงน้ำดี

ปัจจุบันถือว่าการผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้องเป็นวิธีมาตรฐานในการรักษาโรคของถุงน้ำดี การผ่าตัดชนิดนี้สามารถกระทำโดยการระงับความเจ็บปวดขณะผ่าตัดโดยวิธีการดมยาสลบ (General anesthesia)

โดยวิสัญญีแพทย์ และการผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์ และความชำนาญ โดยผู้ป่วยต้องได้รับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดคือ มีการงดน้ำ และอาหารอย่างน้อย 6 ชม.

มีการตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบว่าร่างกายแข็งแรง สามารถรับการรักษาโดยการดมยาสลบเพื่อการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย

ในการทำผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการเปิดแผลที่ผนังหน้าท้อง 3-4 แห่ง ขนาด 0.5-1 ซม. เพื่อทำการสอดใส่เครื่องมือผ่าตัด และกล้องขยายเข้าไปในช่องท้อง และทำการใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เข้าไปในช่องท้องเพื่อทำให้มีช่องบริเวณที่จะทำงานผ่าตัดถุงน้ำดีได้อย่างปลอดภัย

หลังจากนั้นศัลยแพทย์จะทำการเลาะเนื้อเยื่อบริเวณถุงน้ำดีเพื่อค้นหาและตัดถุงน้ำดี และเส้นเลือดที่มาเลี้ยงถุงน้ำดี โดยไม่ให้มีอันตรายต่ออวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง

แล้วจึงนำถุงน้ำดีออก ทำการสำรวจดูบริเวณที่ทำการผ่าตัดจนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงทำการเย็บปิดแผลที่ทำการผ่าตัด และทำการย้ายผู้ป่วยออกมาสังเกตอาการในห้องพักฟื้น ก่อนย้ายขึ้นสู่ตึกผู้ป่วย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในการทำผ่าตัดประมาณ 45-90 นาที พักในโรงพยาบาล 1-2 วัน


ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

อาจมีภาวะแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ได้หลังการผ่าตัดชนิดนี้ ซึ่งอาจมีปัญหาเพียงเล็กน้อยหรือรุนแรงได้ ภาวะที่พบได้บ่อยๆ เช่น

    • อาการปวดหัวไหล่โดยเฉพาะไหล่ขวา เนื่องจากการผ่าตัดต้องมีการใส่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) เข้าไปในช่องท้องด้วยแรงดันพอสมควรที่จะทำให้ช่องท้องมีบริเวณมากพอที่จะทำการผ่าตัด ซึ่งแรงดันนี้ จะทำให้มีการดึงเหยียดของกระบังลมร่วมกับมีการระคายเคือง จากก๊าซต่อเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกระบังลม ทำให้มีอาการปวดหัวไหล่หลังจากการผ่าตัดชนิดนี้ได้บ่อย การรักษา ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ
    • อาการปวดบริเวณแผลผ่าตัดและ หรือร่วมกับการมีปัญหาที่แผลผ่าตัด เช่น การมีเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งบริเวณแผล การมีรอยเขียวช้ำบริเวณแผลผ่าตัด เกิดจากการมีเลือดออกในเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ถ้ามีขนาดเล็กสามารถหายเองได้ ถ้ามีขนาดใหญ่อาจต้องช่วยระบายเลือดหรือน้ำเหลืองออก
    • อาการท้องอืด แน่นท้องหลังผ่าตัด เกิดจากลำไส้โดนรบกวนจากก๊าซที่เป่าเข้าไปในช่องท้องหรือเกิดจากการถูกจับต้องขณะผ่าตัด ทำให้ลำไส้ทำงานลดลงชั่วคราว มักหายได้เอง

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการผ่าตัดชนิดนี้คือการบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียง ที่สำคัญคือการบาดเจ็บของท่อน้ำดีรวม - Common bile duct

ซึ่งทำให้มีอาการได้หลากหลายขึ้นอยู่กับชนิดของการบาดเจ็บ อาจมีอาการเฉียบพลันหลังผ่าตัดหรือเนิ่นนานเป็นสัปดาห์หลังผ่าตัด สามารถพบได้เฉลี่ยร้อยละ 0.5-1

ดังนั้นในผู้ป่วยบางรายที่มีการอักเสบหรือพังผืดในบริเวณที่จะการผ่าตัดมาก หรือในรายที่มีกายวิภาคของบริเวณตับ และถุงน้ำดีที่ไม่ปกติ ศัลยแพทย์อาจเปลี่ยนจากการทำผ่าตัดแบบใช้กล้องมาเป็นแบบเปิด - Conversion to open cholecystectomy

เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยได้ โดยต้องมีการแจ้งกับผู้ป่วยไว้ล่วงหน้าเนื่องจากไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าทั้งหมด

การดูแลหลังผ่าตัด

การผ่าตัดถุงน้ำดีโดยใช้กล้อง เป็นการผ่าตัดโดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผสมผสานกับความชำนาญ และประสบการณ์ของศัลยแพทย์ ทำให้มีการบาดเจ็บต่อผนังหน้าท้อง และบริเวณที่ทำการผ่าตัดลดลงอย่างมาก

ในกรณีที่ทำการผ่าตัดประสบความสำเร็จโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยอาจ Admit ในรพ. 1-2 วัน และสามารถกลับบ้านไปพักฟื้นประมาณ 1 สัปดาห์ ก็สามารถทำกิจกรรมด้วยตัวเองได้เกือบปกติ

โดยในสัปดาห์แรกผู้ป่วยจะมีแผลขนาดเล็กที่ผนังหน้าท้อง 3-4 แผล ซึ่งสามารถดูแลได้อย่างง่ายดาย บางรายอาจใช้ผ้าปิดแผลชนิดกันน้ำได้ ทำให้การดูแลยิ่งสะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม