degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label

การตรวจเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจทางรังสีที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงและคมชัดมากกว่า ทำให้สามารถค้นหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ


เครื่องดิจิตอลแมมโมแกรมคืออะไร ?

ดิจิตอลแมมโมแกรม คือการตรวจเอกซเรย์เต้านม เป็นการตรวจทางรังสีที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงและคมชัดมากกว่า ทำให้สามารถค้นหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งบางครั้งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถคลำหรือตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์พบ ดังนั้นการตรวจดิจิตอลแมมโมแกรมจึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก

การตรวจเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรมดีอย่างไร ?

  1. ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก (Early Detection, Save live)
  2. ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับจากการถ่ายเอกซเรย์เต้านมด้วย Digital Mammogram ลดลง 30-60 % เมื่อเทียบกับเครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบ Analog
  3. ลดเวลาในการทำ Mammogram เนื่องจากถ่ายภาพได้อย่างต่อเนื่องโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องคอยเปลี่ยนฟิล์มและล้างฟิล์ม
  4. ผู้ป่วยเจ็บเต้านมน้อยลงและรู้สึกสบายขึ้นขณะทำแมมโมแกรม เนื่องจากมีแผ่นกดเต้านมชนิดพิเศษที่สามารถเอียงตามสัณฐานของเต้านม
  5. แพทย์ผู้ตรวจเรียกดูภาพได้จากหน้าจอมอนิเตอร์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอดูจากฟิล์ม และได้ภาพที่มีความคมชัดมากกว่าทำให้ลดการถ่ายเอกซเรย์ซ้ำ

คุณผู้หญิงรู้หรือไม่ทำไมต้องทำแมมโมแกรม ?

ปัจจุบันนี้อุบัติการณ์ของมะเร็งเต้านมในประเทศไทยพบสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิง แมมโมแกรมเป็นเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดในการตรวจพบหินปูนในเต้านม ซึ่งหินปูนบางชนิดพบในมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกซึ่งไม่สามารถค้นพบจากการตรวจร่างกาย

มีวิธีการตรวจอย่างไร?

  • แมมโมแกรม คือ การถ่ายเอกซเรย์เต้านมทั้ง 2 ข้าง ตามปกติจะทำ 2 ท่า คือ
    • ถ่ายเต้านมด้านตรง - Craniocaudal view - CC
    • แนวเอียง - Mediolateral oblique - MLO

รูปการถ่ายเต้านมด้านตรง

รูปการถ่ายเต้านมแนวเอียง


ควรตรวจแมมโมแกรมเมื่อไร ?

ผู้หญิงทุกคนควรได้รับการตรวจเป็นพื้นฐานอย่างน้อยหนึ่งครั้ง หรือปีเว้นปีในช่วงอายุ 35 - 40 ปี เมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะหญิงที่มีประวัติมะเร็งเต้านมในครอบครัว หรือญาติด้านมารดาอาจจะยิ่งต้องตรวจเนิ่นกว่าปกติ

ใครบ้างเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ? ที่ควรมาตรวจแมมโมแกรมทุก 1 ปี
  • ผู้หญิงที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ มารดา พี่สาว น้องสาว บุตรสาว
  • ผู้ที่เคยรับการฉายแสงเพื่อรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นที่บริเวณหน้าอก
  • ผู้ที่รับยาฮอร์โมนอย่างสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งเต้านมแล้ว 1 ข้าง
  • ผู้ที่ได้รับการเจาะตรวจชิ้นเนื้อพบภาวะที่เรียกว่า Atypical ductal hyperplasia

คำถามที่พบบ่อย

Q : กำลังมีประจำเดือนอยู่ทำแมมโมแกรมได้หรือไม่ ?

A : ระยะของประจำเดือนไม่มีผลต่อภาพที่ได้จากแมมโมแกรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ช่วงที่ใกล้มีประจำเดือน หรือกำลังมีประจำเดือนอยู่เต้านมจะมีการคัดตึงตามธรรมชาติ ทำให้เจ็บเวลากดเต้านมขณะทำแมมโมแกรม ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการตรวจคือ 7-14 วันหลังมีประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ท่านไม่ต้องกังวลถ้าวันนัดของท่านไม่ตรงกับช่วงเวลาดังกล่าว

Q : ทำแมมโมแกรมเจ็บหรือไม่ ?

A : ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรมจำเป็นต้องมีการกดเต้านม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อทำให้เนื้อเต้านมแผ่ออกไม่บังสิ่งผิดปกติ(ถ้ามี) นอกจากนี้ยังลดปริมาณรังสีที่เต้านมจะได้รับ แต่ไม่ต้องกังวลว่าการตรวจจะเจ็บมาก เพราะจากการศึกษาของศูนย์ตรวจวินิจฉัยเต้านม จากจำนวนผู้รับการตรวจ 765 ราย 23% บอกว่าไม่เจ็บเลย 48% เจ็บเล็กน้อย 25% เจ็บปานกลาง มีเพียง 4% ที่บอกว่าเจ็บมาก

Q : การทำแมมโมแกรมได้รับรังสีมากไหม ?

A : ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการทำแมมโมแกรมน้อยมากๆ ไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดอันตรายในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการตรวจท่านควรแน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ทารกได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น

Q : การทำแมมโมแกรมเชื่อถือได้ 100% หรือไม่ ว่าจะไม่พบมะเร็ง ?

A : มีภาวะบางประการที่ทำให้แมมโมแกรมมีข้อจำกัด ที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ ความหนาแน่นของเนื้อเต้านม เต้านมคนเรามีส่วนประกอบหลักๆ คือ ส่วนที่เป็นเนื้อของเต้านม (รวมท่อน้ำนม ต่อมน้ำนม เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน) และส่วนที่เป็นไขมัน ในรายที่เนื้อเต้านมหนาแน่นมาก เช่น อายุน้อย เนื้อเต้านมมีโอกาสบังสิ่งผิดปกติทำให้ตรวจไม่พบ นี่เป็นเหตุผลประการหนึ่งที่เราไม่ทำแมมโมแกรมในผู้หญิงอายุน้อยที่ไม่มีอาการผิดปกติของเต้านม

นอกจากนี้มะเร็งระยะต้นบางกรณีอาจตรวจพบได้ยาก หรือไม่สามารถแยกจากความผิดปกติที่ไม่ใช่มะเร็งได้ โดยรวมแมมโมแกรมอาจให้ผลปกติแม้มีมะเร็งเต้านมอยู่ โดยมีโอกาสพบกรณีเช่นนี้ได้ประมาณ 10% ดังนั้นจึงนำอัลตราซาวด์มาใช้เสริมกับแมมโมแกรมเพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจมากขึ้น

Q : ตรวจอัลตราซาวด์ ต่างกับแมมโมแกรมอย่างไร ?

A : การตรวจแมมโมแกรม จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมซึ่งมีขนาดเล็ก เพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในผู้อายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อนก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ

ส่วนการตรวจอัลตราซาวด์ แม้ว่าจะสามารถตรวจหาจุดหินปูนซึ่งเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านม แต่สู้การใช้แมมโมแกรมไม่ได้ ข้อเด่นของการตรวจอัลตราซาวด์คือสามารถใช้ในคนอายุน้อย อีกทั้งยังช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆ ในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้วางแผนการรักษาได้ง่ายขึ้น และหากจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม แพทย์จะใช้เข็มเจาะก้อนที่เต้านมเพื่อนำเซลล์หรือเนื้อเยื่อของเต้านมส่งตรวจทางพยาธิวิทยาต่อไป

ข้อควรทราบอื่นๆ สำหรับการตรวจแมมโมแกรม

  • ถึงแม้แมมโมแกรมจะมีความสามารถสูงในการตรวจหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นแต่ก็ไม่ 100%เพราะฉะนั้นการตรวจหามะเร็งระยะเริ่มต้นต้องประกอบด้วย
    • คลำเต้านมตัวเองเดือนละ 1 ครั้ง (Breast Self Examination - BSE)
    • ให้แพทย์ตรวจเต้านมปีละ 1 ครั้ง (Clinical Breast Examination - CBE)
    • สำหรับคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป ให้ทำแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้งด้วย
  • ส่วนใหญ่คนที่ทำแมมโมแกรมจะได้รับการตรวจด้วยคลื่นเสียง(Ultrasound)ด้วย แต่ในบางรายจะทำเฉพาะอัลตราซาวด์เท่านั้น ในรายที่สงสัยก้อนการทำอัลตราซาวด์อย่างเดียวไม่สามารถทดแทนแมมโมแกรมในการตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นได้
  • ความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ จากแมมโมแกรมพบได้บ่อย ไม่ต้องตกใจ รังสีแพทย์อาจถ่ายฟิล์มท่าต่างๆ เพิ่มเติมหรือนัดให้ตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด เช่น ทุก 6 เดือนสักระยะหนึ่ง
  • ควรนัดมาตรวจแมมโมแกรมในช่วงที่ไม่คัดเต้านม เพราะจะทำให้เจ็บน้อยลงขณะตรวจ หรืออาจจะไม่เจ็บเลยก็ได้ ระยะเวลาที่เหมาะสมคือหลังจากประจำเดือนหมดใหม่ๆ
  • วันมาตรวจควรสวมชุดครึ่งท่อนเพื่อความสะดวกในการตรวจ
  • วันมาตรวจต้องไม่ทาครีม แป้ง น้ำหอม หรือน้ำยาดับกลิ่นตัวบริเวณเต้านมและรักแร้ทั้งสองข้าง เพราะอาจทำให้ดูเหมือนมีความผิดปกติ(หินปูน)ในภาพแมมโมแกรมได้

"สรุปแล้ว ผู้หญิงทุกคน ควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือน และพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุกปี พออายุ 35 ปี ควรได้รับการทำแมมโมแกรมเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน base line 1 ครั้ง จากนั้นเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง เพื่อจะได้ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ และรักษาให้หายขาด"


เอกสารอ้างอิง

  • Smith, A. Full-Field Breast Tomosynthesis, Hologic reference paper, 2003 ,Available from :asmith@hologic.com
  • http://www.nci.nih.gov/cancertopics/types/breast
  • Elta D.Pisano, Martin J.Yaffe, Cherie M.Kuzmiak. Digital Mammography, Lippincott Williams & Wilkins




แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม