โรคอ้วน
"โรคอ้วน" ใครได้ยินก็แทบสะดุ้ง เพราะนอกจากจะเป็นชื่อโรคแล้วยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงรูปร่างอันไม่พึงประสงค์ของหลายๆคน อีกทั้งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคนิ่วในถุงน้ำดี ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นต้น
ปัจจุบันประชากรโลกประสบปัญหากับโรคอ้วนและโรคแทรกซ้อนจากความอ้วนเป็นอย่างมากโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาพบว่า มีคนไข้โรคอ้วนมากถึง 78 ล้านคนในระยะเวลาเพียง 1 ปี ( คศ. 2009-2010) ทำให้พบอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดและหัวใจก่อนวัยอันควร ส่งผลให้สูญเสียประชากรวัยทำงานที่จะมาพัฒนาประเทศในอนาคต
เกณฑ์ในการวินิจฉัยอิงตามองค์การอนามัยโลก โดยใช้ค่าดัชนีมวลกาย ( BMI : body mass index)
คำนวณโดย BMI = น้ำหนักตัว ( กิโลกรัม ) / ส่วนสูง2 (เมตร2) ค่าปกติคือ 18.5-24.9
บางท่านอาจอ้วนไม่รู้ตัว หากคำนวณแล้วได้มากกว่า 25 กก/ม2 ถือว่ามีน้ำหนักตัวมากเกินซึ่งแปลว่าเท้าข้างหนึ่งของท่านกำลังเหยียบเข้าสู่ประตูความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจเข้าแล้ว และหากคำนวณได้ค่ามากกว่า 30 กก/ม2 ก็แปลว่าอ้วนจนเท้าเข้าประตูมาเต็มๆ ตุงตาข่ายกันเลยทีเดียว
โรคอ้วนลงพุงก็เป็นอีกโรคที่ตามมาจากโรคอ้วน เรียกได้ว่าอ้วนอย่างรุนแรงจนประสบกับภาวะที่มีไขมันพอกพูนทุกรูขุมขนนอกจากจะอยู่รอบเอว ซ้ำร้ายไขมันเหล่านั้นได้ไปอยู่ตามอวัยวะภายในอีกด้วย ซึ่งโรคอ้วนลงพุงเริ่มวินิจฉัยจากการวัดรอบเอวร่วมกับตรวจพบปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหรือเท่ากับ 2 ข้อ จาก 4 ข้อ
โดยมีรอบเอวมากกว่า 80 ซม. ในเพศหญิง และมากกว่า 90 ซม. ในเพศชาย ปัจจัยเสี่ยง 4 ข้อ ได้แก่
- ความดันโลหิตสูงมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับไขมันชนิดไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับไขมันชนิดเอชดีแอล (HDL) ในเลือด ต่ำกว่า 50 ในเพศหญิง และ 40 ในเพศชาย (หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
ดังนั้น หากยังมิทันระวังก็อาจเกิดอุบัติการณ์ขึ้นได้ในทุกๆ วินาทีของชีวิต เสมือนกับการขับขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกกันนิรภัย แต่กระนั้นก็ไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะปัจจุบันความนิยมในการใส่ใจและรักษาสุขภาพมีมากขึ้น อีกทั้งมีโปรแกรมตรวจเช็คสุขภาพบริการทุกหนทุกแห่งทำให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและแก้ไขได้ทันท่วงที
การรักษามีทั้งวิธีใช้ยาและไม่ใช้ยา แน่นอนว่าคนไข้ส่วนใหญ่มักจะกระอักกระอ่วนเมื่อต้องใช้ยาเสมือนถูกปิดผนึกตีตราว่าต้องจองจำในวังวนของคนป่วยในโงพยาบาลตลอดชีวิตที่เหลืออยู่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดแล้ววิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ร้ายแรงของหลอดเลือดอันบอบบางของเรา เรามาปฏิบัติควบคู่กันไปดีกว่า
หลักการของการรักษา คือรักษาโรคที่เป็นและลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจดังนั้นการลดน้ำหนักก็ถือเป็นการรักษาโรคอ้วนและช่วยชะลอความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูงอีกด้วย การลดน้ำหนักควรทำควบคู่ทั้งการควบคุมอาหารการกินและการออกกำลังกาย
การควบคุมอาหาร ในแต่ละวันเราต้องใช้พลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ดังนั้นไม่ควรอดอาหาร แต่ควรจำกัดปริมาณและเลือกสรรชนิดของอาหารให้ครบห้าหมู่เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอและมีคุณภาพมากที่สุด แนวทางปฏิบัติในการรักษาโรคอ้วนของประเทศสหรัฐอเมริกา ( Guideline for obesity 2013 : American College of cardiology)
ล่าสุดได้กำหนดค่าพลังงานของอาหารที่ควรกินต่อวันของคนไข้โรคอ้วนโดยกินเพียง 1,200-1,500 กิโลแคลอรี่ต่อวันในเพศหญิง และ 1,500-1,800 กิโลแคลอรี่ต่อวันในเพศชาย เรียกว่าการกินให้น้อยแต่ไม่ขาดไม่เกิน ส่วนประเภทอาหารควรงดอาหารมันเพื่อป้องกันการเกิดโรคไขมันในเลือดสูง งดอาหารรสหวานจัดเพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน และงดอาหารรสเค็มจัดเพื่อป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
เพียงแค่การกินก็ยากเย็นเหลือเกิน เพราะนอกจากจะกินปริมาณน้อยลงแล้วยังต้องจำกัดรสชาติให้จืดชืดเสียอีก แต่อย่าได้กังวลไปปัจจุบันในโลกออนไลน์มีเพจต่างๆ มากมายที่สรรค์สร้างเพื่อคนรักสุขภาพบ้างก็พูดคุยถึงเรื่องการจำกัดอาหาร บ้างก็สอนวิธีทำอาหารให้เอร็ดอร่อยและหน้าตาสีสันน่ารับประทานยิ่งขึ้นอีก
การออกกำลังกายควรออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานที่ได้รับเกินมาในแต่ละวันร่วมกับกำจัดไขมันที่สะสมพอกพูนที่มีค้างไว้ทั้งตัวและหัวใจ โดยการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพในการเผาผลาญและดีต่อหัวใจมากที่สุดคือการออกกำลังกายชนิดแอโรบิก ( Aerobic exercise ) เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก เป็นต้น
พูดง่ายๆ เลยก็คือ การทำให้ร่างกายรู้สึกเหนื่อย หากท่านไม่ใช่ผู้สูงอายุก็ควรออกกำลังกายชนิดแอโรบิกไม่ใช่เพียงแค่เดินทอดน่องหรือแกว่งแขนไปมา ควรออกกำลังกายมากกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ และมากกว่า 30 นาทีต่อวัน ดังนั้นจึงต้องออกกำลังกายกันถึงสัปดาห์ละ 5 วันเลยทีเดียว
นอกจากจะออกกำลังกายแล้ว ควรเพิ่มการขยับกายาในแต่ละวันด้วย เช่น เดินหรือปั่นจักรยานไปทำงาน ลุกนั่ง หยิบของเอง ทำงานบ้านทำให้กระฉับกระเฉงมากขึ้น ก็เป็นการเผาผลาญพลังงานได้พอสมควรเลย
ส่วนการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การใช้ยาหรือการผ่าตัดนั้นจะต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป หากไม่สามารถลดน้ำหนักได้ 5-10 % ภายใน 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อพิจารณาข้อบ่งชี้ในการใช้ยาหรือผ่าตัดช่วย แต่อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจกระทำการใดเอง การสร้างนิสัยจะเป็นการควบคุมน้ำหนักและรูปร่างได้คงอยู่ยาวนานกว่าการใช้ตัวช่วยอย่างเห็นได้ชัด
ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของการใช้ยารักษา โดยรักษาตามโรคที่ตรวจพบตามแนวทางการรักษาในแต่ละโรค โรคยิ่งรุนแรงเท่าไรก็ต้องจัดหาหยูกยามาประโคม แต่หากได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันได้ดีมากเท่าไรโอกาสการลดทอนการใช้ยาก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ แนะนำให้หาแรงบันดาลใจแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างนิสัย สุขภาพดีเริ่มต้นด้วยตัวท่านเอง แต่ได้ประโยชน์แก่ทั้งตัวเอง คนรอบตัวและประเทศชาติอีกด้วย
คุกกี้และความเป็นส่วนตัว
เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย