degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label

RSV กำลังระบาดหนัก เหมือนไข้หวัด แต่อันตรายกว่า อาจถึงขั้นชีวิต


RSV...เหมือนไข้หวัด แต่อาจอันตรายถึงชีวิต

ในช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคที่พบมากในเด็กเล็กได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก ไข้เลือดออก อีสุกอีใส และอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังเป็นอย่างยิ่งคือ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากไวรัส RSV

RSV ย่อมาจาก Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการอักเสบที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจคือ เกิดภาวะปอดอักเสบ

การติดต่อของเชื้อไวรัส RSV

ติดต่อได้ง่ายมากจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อไวรัส RSV เข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา หู จมูก ปาก หรือสัมผัสเชื้อโดยตรงจากการจับมือ

ไวรัส RSV จะมีชีวิตยู่ภายนอกร่างกายได้หลายชั่วโมงโดยอาศัยอยู่ตามวัตถุต่างๆ เด็กเล็กสามารถรับเชื้อไวรัสได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยเชื้อมีระยะฟักตัวประมาณ 2-6 วัน หลังจากที่ได้รับเชื้อ

อาการ

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส RSV อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดศีรษะ ไวรัส RSV พัฒนาไปสู่โรคขั้นรุนแรงได้หากเชื้อลงไปสู่ระบบหายใจส่วนล่าง มันจะทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบ อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียเพิ่ม

จากนั้นจะมีอาการหอบ ไอรุนแรง ทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตแต่พบไม่มาก การเสียชีวิตเป็นเพราะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว โดยเฉพาะเด็กทารกอายุน้อยๆ จะยิ่งเสี่ยง หรือเป็นเพราะการส่งผู้ป่วยมารักษาช้าเกินไป

หากพบอาการดังต่อไปนี้และสงสัยว่าลูกอาจได้รับเชื้อไวรัส RSV รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

  • ภาวะขาดน้ำ สังเกตเวลาลูกร้องไห้ แต่ไม่มีน้ำตาไหลออกมา
  • อาการไข้สูงขึ้นๆ ลงๆ และมีน้ำมูกใสๆ ไหลตลอดเวลา
  • เบื่ออาหาร งอแง และอาการซึม
  • ไอมากจนเหนื่อย ไอคล้ายเสียงหมาเห่า จามบ่อย
  • มีเสมหะสีคล้ำเขียว หรือสีเหลือง
  • หายใจเป็นเสียงหวีด หายใจตื้นเร็ว สั้น ดูเหนื่อย หายใจลำบาก ปีกจมูกบานเวลาหายใจ
  • ปลายนิ้ว เล็บ เริ่มเปลี่ยนสีเป็นเขียวคล้ำ ตัวลายเขียวจากการขาดออกซิเจน

การรักษา

  • ไวรัส RSV ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษา ต้องรักษาตามอาการ ทานยาลดไข้ตามอาการทุก 4-6 ชม. เช็ดตัวลดไข้ นอนพักผ่อนเยอะๆ ให้ร่างกายฟื้นตัว
  • แต่หากกินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้นในวันที่ 4 ช่วงนี้จะอันตราย หากมีอาการหนักต้องรีบส่งตัวเข้าโรงพยาบาล แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ ให้น้ำเกลือและยาขยายหลอดลม ถ้ามีเสมหะมากจะพ่นยา เคาะปอด ดูดเสมหะ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ให้ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีภาวะขาดออกซิเจนก็จะใส่เครื่องช่วยหายใจ เรียกว่าต้องมีทีมบุคลากรทางการแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด หากรักษาถูกต้องวันที่ 7-9 อาการก็จะดีขึ้น

การป้องกัน

  • ล้างมือด้วยน้ำสบู่ทุกครั้งก่อนสัมผัสและก่อนอุ้มเด็ก
  • หากลูกติดเชื้อ RSV รักษาให้หายดีก่อนไปโรงเรียนป้องกันการแพร่เชื้อ
  • หมั่นทำความสะอาดของใช้ ของเล่น แยกแก้วน้ำส่วนตัว
  • หลีกเลี่ยงการจูบและหอมเด็ก เพราะอาจเป็นการแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
  • หลีกเลี่ยงสัมผัสเด็กที่สงสัยว่าเป็นหวัด
  • ใส่หน้ากากอนามัย
  • ไม่นำบุตรหลานไปในที่ชุมชนคนเยอะ


© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม