degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed
label

เฝือก คือเครื่องดามที่ใช้ดามกระดูกและข้อ ส่วนที่ถูกหุ้มด้วยเฝือกนั้นอยู่นิ่งๆ โดยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนอื่นที่อยู่นอกเฝือกได้

Splint Cov

เฝือก คือเครื่องดามที่ใช้ดามกระดูกและข้อ ส่วนที่ถูกหุ้มด้วยเฝือกนั้นอยู่นิ่งๆ โดยสามารถเคลื่อนไหวร่างกายส่วนอื่นที่อยู่นอกเฝือกได้ นอกจากนี้ยังสามารถ ใช้ปกป้องเนื้อเยื้ออื่นๆ ที่ได้รับบาดเจ็บได้

วัตถุประสงค์ของการใส่เฝือก

  1. ใช้ดามกระดูกหักหรือข้อที่ได้รับบาดเจ็บให้อยู่นิ่งในตำแหน่งที่จัดไว้
  2. ใช้ดามส่วนของร่างกายที่มีการอักเสบได้หยุดพัก เพื่อลดความปวด บวม เช่น ภาวะโพรงกระดูกติดเชื้อ เป็นหนอง
  3. ใช้ป้องกันการเกิดความผิดปกติวิกลรูปของข้อต่างๆ จากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น ผู้ป่วยอัมพาต แผลไฟไหม้ หรือน้ำร้อนลวก
  4. ใช้ดัด แก้ไขความวิกลรูปของร่างกาย โดยการใส่เฝือกหลายๆครั้ง ค่อยๆ ยืดให้อวัยวะนั้นกลับคืนสู่ลักษณะปกติ เช่น กระดูกสันหลังคด
  5. ใช้ป้องกันกระดูกหักในกรณีที่กระดูกเป็นโรค เช่น ผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกกระดูก

การดูแลเฝือก

เฝือกใช้เวลาแข็งตัวประมาณ 3-5 นาที หลังจากที่แพทย์ใส่เฝือกให้ แต่เฝือกที่แข็งตัวแล้วก็ยังมีสภาพเปียกชื้นและบุบง่ายอยู่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วันจึงจะแห้งสนิท ซึ่งจะมีความแข็งแรงและน้ำหนักเบาลงกว่าขณะที่เปียกถ้ารู้จักทะนุถนอมเฝือก ก็จะสามารถใช้เฝือกนั้นได้นานจนถึงเวลาที่จะเปลี่ยน

ในระยะ3 วันแรกหลังใส่เฝือก

  1. ป้องกันเฝือกแตกหักหรือบุบในระหว่างที่เปียกชื้น หรือแห้งไม่สนิท วางเฝือกบนวัสดุนุ่ม นิ่ม เช่น หมอน หรือฟองน้ำ หลีกเลี่ยงการวางเฝือกบนวัสดุแข็ง เช่น วางส่วนของส้นเท้าบนพื้นปูน หรือใช้ส่วนของข้อศอก เท้าพนักเก้าอี้ ควรประคองเฝือกในระหว่างที่เคลื่อนย้าย หรือลุกออกจากเตียงอย่างระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการใช้ปลายนิ้วกดหรือบีบเฝือกเล่น
  2. ดูแลให้เฝือกแห้งเร็ว วางเฝือกในที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่อับชื้น ไม่ใช้ผ้าห่มหรือสิ่งใดๆ คลุมบนเฝือกใช้พัดลมเป่าช่วยให้เฝือกแห้งเร็วขึ้น แต่ห้ามนำเฝือกไปผิงไฟ

การปฏิบัติเมื่อเฝือกแห้งดีแล้ว

  1. ดูแลไม่ให้เฝือกเปียกชื้นหรือสกปรก เช่น เดินในสนามหญ้าตอนเช้าหรือถูกน้ำจนเปียก เวลาอาบน้ำควรใช้ถุงพลาสติกหุ้มเฝือกไว้ อาจใช้ถุงสวมทับหลายๆ ชั้น โดยมัดปากถุงที่คนละระดับ จะช่วยกันน้ำได้ดียิ่งขึ้น
  2. ไม่ควรให้เฝือกเป็นตัวรับน้ำหนักอย่างเต็มที่ ยกเว้นมีส้นยางเป็นตัวรับน้ำหนัก
  1. ไม่ควรลงน้ำหนักหรือเดินบนเฝือก ถ้าแพทย์ยังไม่อนุญาต

การปฏิบัติตัวตลอดช่วงเวลาใส่เฝือก

  1. ควรเกร็งกล้ามเนื้อที่อยู่ใต้เฝือกบ่อยๆ และเคลื่อนไหวส่วนที่อยู่ภายนอกเฝือกหรือข้อต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ใส่เฝือกขาควรเคลื่อนไหวนิ้วเท้าและเกร็งกล้ามเนื้อน่อง
  2. ห้ามตัด ทำลายเฝือก สำลี หรือวัสดุรองรับเฝือกออกเอง
  3. อย่าให้เฝือกกระทบของแข็งบ่อยๆ อย่าให้ได้รับแรงกดจนแตก หรือยุบ เช่น เหยียบ หรือวางลงบนพื้นแข็งโดยตรง
  4. ห้ามทำให้พื้นเฝือกเปียกหรือถูกน้ำ หรือลนด้วยความร้อนเพื่อให้แห้งเร็ว
  5. ห้ามใช้วัสดุของแข็ง มีคมหรือหักหลุดง่ายแหย่เข้าไปในเฝือกเพื่อแก้อาการคัน เพราะอาจทำให้ผิวหนังลอกและมีบาดแผลได้ ถ้ามีอาการคันมากให้เกร็งกล้ามเนื้อเพื่อเป็นการขยับลดอาการ หรือใช้สเปรย์สำหรับพ่นเข้าไปในเฝือกโดยเฉพาะ
  6. ควรยกส่วนแขนหรือขาที่เข้าเฝือกให้สูงอยู่เหนือระดับหัวใจเสมอ เพื่อช่วยให้เกิดการไหลเวียนที่ดี เวลานั่ง นอน ให้ใช้หมอนหนุนแขนหรือขาที่เข้าเฝือก สำหรับผู้ที่ใส่เฝือกแขนเวลายืน เดินให้ใช้ผ้าคล้องคอ
  7. มาพบแพทย์ตามนัด

ถ้ามีอาการผิดปกติต่อไปนี้ ให้รีบกลับมาพบแพทย์

  1. มือหรือเท้าส่วนที่ใส่เฝือกบวมมาก
  2. รู้สึกเจ็บ ปวด หรือแสบร้อนทั้งๆ ที่ได้ยกส่วนที่ใส่เฝือกไว้เหนือระดับหัวใจ และรับประทานยาแก้ปวดแล้วไม่ทุเลาลง
  3. ปลายนิ้วหรือเล็บมือเขียวคล้ำกว่าข้างปกติ
  4. รู้สึกชาหรือเป็นเหน็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  5. กำลังในการขยับอวัยวะส่วนที่โผล่ออกมาทางปลายเฝือกลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่น ไม่มีแรงกำ หรือแบนิ้วมือ
  6. คลำชีพจรซึ่งเคยคลำได้ปกติ(ตามที่แพทย์แนะนำ)เบาลง หรือคลำไม่พบ
  7. มีหนองหรือสารเหลวผิดปกติซึมเปื้อนเฝือก ไหลออกมาจากใต้เฝือก หรือส่งกลิ่นเหม็น
  8. เฝือกหักหรือแตกร้าว
  9. เฝือกหลวมหรือเป็นหลุม


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม