degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

มันเกิดขึ้นได้ตลอดปี... "ภูมิแพ้" ถ้ารู้ทัน...ก็ไม่ "แพ้"

โรคแพ้อากาศ

อาการของโรคแพ้อากาศ

อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จามบ่อย คันในจมูก และมีเสมหะไหลลงคอ โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นตลอดปี หรือเพียงบางฤดูกาลก็ได้ โดยเฉพาะฤดูฝนหรือฤดูหนาว บางรายอาจมีอาการทางตาด้วย เช่น คันตา เคืองตา ตาบวม น้ำตาไหล อันเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุภายในตา ส่วนใหญ่มักมีอาการเฉพาะบางเวลา เช่น ตอนเช้าหรือกลางคืนประมาณวันละ 1-2 ชั่วโมง

การตรวจวินิจฉัย

  • จากประวัติ และการตรวจร่างกายทางหูคอจมูกโดยละเอียด
  • ทำ Skin test คือการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังว่าแพ้อะไร

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคแพ้อากาศ

1.ไซนัสอักเสบ

ไซนัส คือโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกบริเวณใกล้จมูก รูระบายไซนัสมาเปิดในรูจมูก ทำให้อากาศผ่านเข้าออกได้ เมื่อเยื่อบุภายในจมูกบวมอักเสบ จะทำให้รูระบายนี้อุดตัน เกิดการติดเชื้อในโพรงไซนัสทำให้อักเสบ โดยมีอาการปวดบริเวณไซนัส ปวดศีรษะ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู ถ้าเป็นเรื้อรังอาจมีหนองไหลออกจากหูเนื่องจากมีเยื่อแก้วหูทะลุ

2.นอนกรน

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จมูกจะมีเยื่อบุจมูกบวม บางครั้งอาจมีต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โตร่วมด้วย ทำให้ช่องทางเดินหายใจถูกอุดกั้น และมีอาการกรนเกิดขึ้น ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหยุดหายใจไปชั่วขณะในขณะนอนหลับ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยลง มีผลต่อสมอง และอวัยวะสำคัญของร่างกาย ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น เซลล์สมองถูกทำลาย และอาจส่งผลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ได้

การป้องกันและการรักษาโรคแพ้อากาศ

1.หลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้

เป็นวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด และจำไว้ว่าต้องเคร่งครัด เช่นคนที่แพ้ฝุ่นในอากาศก็ต้องเลี่ยงฝุ่นไม่ว่าจะทั้งนอกบ้านและในบ้าน ควรทำความสะอาดโดยเฉพาะห้องนอนเป็นประจำทุกวัน รวมถึงเปิดหน้าต่างให้แสงเข้า ที่นอนให้แดดส่องถึง หรือนำที่นอนมาผึ่งแดดบ่อยๆ และให้อากาศถ่ายเทได้ดี

2.หลีกเลี่ยงสารระคายเคือง

ควันบุหรี่ ควันรถ ควันธูป น้ำหอมกลิ่นแรง สเปรย์ ล้วนเป็นสารระคายเคืองที่มีส่วนทำให้อาการแพ้อากาศเป็นหนักขึ้นได้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเด็ดขาด รวมถึงเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและความชื้นอย่างเฉียบพลัน

3.ใช้ยาตามแพทย์สั่ง

สำหรับผู้ป่วยที่แพ้อากาศควรปรึกษาแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยอาการ และรักษาตามแต่บุคคล ไม่ซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อจมูกได้ ให้เคร่งครัดในการทานยา หรือใช้ยาให้มากๆ

4.รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารที่มีประโยชน์ดีต่อร่างกายแล้วยังเป็นภูมิคุ้มกันโรคได้ โดยเฉพาะอาหารจำพวกโปรตีน ผักและผลไม้

5.นอนหลับพักผ่อน

หากร่างกายอ่อนเพลียขาดการพักผ่อนก็เหมือนเป็นการเปิดช่องให้โรคเข้ามาได้ การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คือยารักษาโรคตัวหนึ่งที่มีคนมักมองข้าม เพราะฉะนั้นการนอนหลับไม่ต่ำกว่าวันละ 6-8 ชั่วโมงนี้ ได้ผลดีกับทุกคน

6.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยในเรื่องระบบภูมิคุ้มกัน คือช่วยให้ร่างกายสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้

7.มาตรวจตามแพทย์นัดทุกครั้ง

ผู้ป่วยมาตรวจตรงตามที่แพทย์นัดจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน และทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น


© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม