degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

มะเร็งปอด ตรวจพบเร็ว รักษาได้ทัน

มะเร็งปอด (Lung cancer) เป็น 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมด อีกทั้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่วนมากมักจะไม่มีอาการในระยะแรก แต่จะมีอาการผิดปกติเมื่อมะเร็งอยู่ในระยะลุกลามแล้ว อย่างไรก็ตามมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ หากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

มะเร็งปอด เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะสามารถตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่กระจายไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบประมาณ 10-15% เซลล์มะเร็งเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วและรุนแรงกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก มักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติสูบบุหรี่ การรักษาจะไม่ใช้วิธีการผ่าตัด ส่วนมากรักษาด้วยการใช้ยาหรือฉายรังสี
  2. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบประมาณ 85-90% แพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดหากพบตั้งแต่เนิ่นๆ การเกิดโรคสัมพันธ์กับฝุ่น PM 2.5 และผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีประวัติสูบบุหรี่ มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10 -30 เท่า
  • ผู้ที่รับควันบุหรี่มือสอง หรือมีคนในครอบครัวสูบบุหรี่
  • ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองพิษ ฝุ่น PM2.5 ทำให้มีความเสี่ยงมะเร็งปอดได้ถึง 1 – 1.4 เท่า
  • ผู้ที่สัมผัสสารเคมีหรือสารก่อมะเร็ง เช่น แร่ใยหิน สารหนู แร่เรดอน ไอระเหยจากโครเมียมและนิกเกิล
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

อาการของมะเร็งปอด

  • ไอเรื้อรัง หรือไอมีเลือดปน
  • เสียงแหบ เสียงเปลี่ยน
  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
  • ปอดติดเชื้อบ่อย
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร
  • มีปัญหาการกลืน
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • บางรายอาจเจ็บหน้าอกหรือปวดกระดูกอย่างรุนแรง หรือไอเป็นเลือด

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด

ผู้ที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อเป็นการยืนยันด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่

  1. เอกซเรย์ปอด (X-ray) เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอดเบื้องต้น แต่วิธีนี้ไม่สามารถแยกความชัดเจนระหว่างก้อนเนื้อมะเร็งหรือโรคที่อาจเกิดกับปอด เช่น ฝีในปอด เมื่อผลเอกซเรย์พบความผิดปกติแพทย์จึงต้องตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมต่อไป
  2. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ปอด (CT Scan) โดยใช้รังสีเอกซ์หมุนรอบตัวผู้ป่วย เก็บข้อมูลในรูปแบบ 3 มิติ แล้วใช้ระบบคอมพิวเตอร์นำข้อมูลที่ได้สร้างเป็นภาพในแนวตัดขวาง และภาพในแนวระนาบอื่นๆ รวมทั้งภาพ 3 มิติ และอาจมีการฉีดสารทึบแสงให้แก่ผู้ป่วยก่อนการตรวจ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นสิ่งผิดปกติในปอดได้ชัดขึ้น
  3. การใช้เข็มขนาดเล็กตัดชิ้นเนื้อ (Fine-needle aspiration) แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะที่ช่องอกไปยังปอด และดูดตัวอย่างของเหลวเนื้อเยื่อที่สงสัยเพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์
  4. การส่องกล้องทางเดินหายใจ (Bronchoscopy) โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กผ่านทางจมูกหรือปากเข้าไปสู่ปอด เพื่อตรวจดูความผิดปกติของปอดและตัดชิ้นเนื้อบางส่วนออกมาตรวจวิเคราะห์ทางอย่างละเอียด
  5. การตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งปอด (Tumor Markers)
  • CEA (Carcinoembryonic antigen) เป็นแอนติเจนที่ถูกสร้างตามปกติจากเซลล์ลำไส้และตับภายในร่างกาย ค่า CEA มักสูงผิดปกติในผู้ป่วยมะเร็งทางเดินอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด มะเร็งรังไข่ ฯลฯ
  • CYFRA 21-1 (Cytokeratin fragment) เป็นสารบ่งชี้มะเร็งที่สำคัญและมีความจำเพาะกับมะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก โดยพบว่าการตรวจหาสาร CYFRA 21-1 และ CEA ร่วมกับการตรวจ Low - Dose CT สามารถเพิ่มความไวและความแม่นยำในการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดได้เป็นอย่างดี

การรักษามะเร็งปอด

  • ผ่าตัด (Surgery) มีเป้าหมายเพื่อผ่าเอาก้อนมะเร็งที่ปอดและต่อมน้ำเหลืองที่ช่องอกออกให้หมด ซึ่งบางครั้งก้อนเนื้อนั้นอาจไม่ใช่เซลล์มะเร็งทั้งหมดก็ได้ วิธีนี้ใช้ในการรักษามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็กระยะที่ 1, 2 และ 3A
  • ฉายรังสี (Radiotherapy) เป็นการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็งเพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น มักใช้ในระยะที่ 3 วิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระยะมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ แต่อาจใช้เฉพาะจุดเพื่อควบคุมการลุกลาม หรือบรรเทาอาการปวด การฉายรังสีใช้เวลาไม่นานและไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี ผมร่วงในบางรายที่ฉายบริเวณสมอง
  • ใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เพื่อให้ภูมิคุ้มกัน ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกัน การตรวจจับและการทำลายเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพ
  • ให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยทั่วไปยาเคมีบำบัดที่ใช้กับมะเร็งปอดเป็นรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือด
  • รักษาแบบเฉพาะเจาะจง (Targeted therapy) เป็นการรักษาโดยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็ง โดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติ ให้ประสิทธิผลในการรักษาและไม่ทำให้เกิดอาการข้างเคียงเหมือนเคมีบำบัด

มะเร็งปอด ตรวจพบเร็ว รักษาได้ทัน

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด (CT Lung Screening) ด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดแบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (Low - Dose CT Scan) เป็นการตรวจเพื่อค้นหาโรคมะเร็งปอด ซึ่งใช้ปริมาณรังสีน้อยแต่ได้ภาพสามมิติที่ให้ความละเอียดมากกว่าการตรวจเอกซเรย์ธรรมดา สามารถเห็นรอยโรคหรือก้อนขนาดเล็กมาก ซึ่งการเอกซเรย์ธรรมดามองไม่เห็น จึงตรวจค้นหามะเร็งปอดได้อย่างแม่นยำ สามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจึงเข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว จึงเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้สูงขึ้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เหมาะกับใครบ้าง ?

  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือมีประวัติสูบบุหรี่
  • ผู้มีบุคคลในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือใกล้ชิดคนสูบบุหรี่
  • ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้รับมลภาวะและสารพิษต่างๆ เช่น ฝุ่น PM 2.5
  • ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด
  • ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง
  • ผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง
  • ผู้ที่ยังไม่เคยตรวจปอด เพศชาย อายุ 45+ เพศหญิง อายุ 50+
  • ผู้ที่ต้องการตรวจปอดประจำปี

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม