วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
เชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus : HPV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณเยื่อบุอวัยวะเพศที่สำคัญ
โดยอาจแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ สายพันธุ์ที่ทำให้เกิดโรคที่มีความเสี่ยงต่ำได้แก่ สายพันธุ์ 6 และ 11 ก่อให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศและหูดที่กล่องเสียงในเด็ก
ส่วนอีกประเภทคือสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้แก่ สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33 และ 45 โดยสายพันธุ์ 16, 18 เป็นสาเหตุหลักของรอยโรคก่อนมะเร็งและมะเร็งปากมดลูกในสตรีถึง 70%
การติดเชื้อนี้ในธรรมชาติไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์อื่นได้และไม่ทำให้ภูมิต้านทานขึ้นสูงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ วัคซีนนี้บางครั้งจึงเรียกว่า "วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก"
วัคซีนเอชพีวีในประเทศไทยมี 3 ชนิด คือ
- วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์ 16 และ 18
- วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์ 6, 11, 16, และ 18
- วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58
รูปแบบการฉีดวัคซีน HPV
- อายุ 9-14 ปี ให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
- อายุ 15 – 45 ปี ให้ 3 ครั้ง ที่ 0, 1-2, 6 เดือน
เพื่อประสิทธิภาพที่ดีที่สุด ควรฉีดวัคซีนในช่วงเด็ก หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ เพราะหากได้รับเชื้อมาก่อนแล้วจะไม่สามารถป้องกันโรคจากเชื้อนั้นๆ ได้
รู้จักวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์
ไวรัส HPV มีมากกว่า 150 สายพันธุ์ เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เยื่อบุผิวและก่อโรคที่บริเวณอวัยวะเพศรวมถึงทวารหนัก ทั้งในเพศชายและหญิง
วัคซีน 9 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Low risk type) แต่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ คือสายพันธุ์ 6 และ 11 และสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ (High risk type) ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58
ด้วยความที่มีจำนวนสายพันธุ์มากกว่าวัคซีน HPV ชนิดอื่นๆ จึงทำให้วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์สามารถป้องกันโรคได้มากกว่าวัคซีน HPV ชนิดอื่นๆ นั่นเอง
วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์กับการป้องกันโรค
วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ดังนี้
การป้องกันโรคในผู้หญิง อายุ 9-45 ปี
- มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย
- มะเร็งปากช่องคลอด และช่องคลอด
- รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ปากช่องคลอด ช่องคลอด และทวารหนัก
- มะเร็งทวารหนัก
- หูดที่อวัยวะเพศ
การป้องกันโรคในผู้ชาย อายุ 9-45 ปี
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งศีรษะและลำคอบางชนิด เช่น มะเร็งลำคอ มะเร็งบริเวณช่องปาก
- รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งทวารหนัก
- หูดที่อวัยวะเพศ
สิ่งที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
- กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์
- มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอชไอวี (HIV) หรือมะเร็ง
- รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
- มีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส
- เคยมีอาการแพ้ต่อวัคซีน HPV ขนาดก่อนหน้า หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ
- กำลังรับประทานยารักษาโรคประจำตัว วิตามิน หรือสมุนไพรอยู่
แพทย์จะประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และช่วยตัดสินใจว่าคุณหรือบุตรหลานของคุณควรได้รับวัคซีนหรือไม่
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ปวดบวมแดง มีก้อนนูนบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาการปวดท้อง หรือเจ็บคอ เป็นอาการที่ไม่อันตรายและสามารถหายได้เอง
อย่างไรก็ตาม ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการแพ้วัคซีน ได้แก่ หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก (หลอดลมหดเกร็ง) ลมพิษ หรือผื่น
เคยฉีดวัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธุ์แล้ว จะฉีดชนิด 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่?
ฉีดได้ โดยจะต้องเข้ารับการฉีดให้ครบจำนวนเข็มตามปกติ เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้นต่อสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยได้รับ และควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่าเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนแล้ว
แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือตรวจ DNA เพื่อหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เพราะหากเคยได้รับเชื้อมาก่อนหน้านั้นแล้ว วัคซีนจะไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาโรคจากไวรัสนั้นๆ ได้
ข้อแนะนำเพิ่มเติม
- ผู้ที่เข้ารับวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ยังคงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด หรือมะเร็งทวารหนัก
- วัคซีน HPV ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในผู้ที่เคยได้รับการติดเชื้อก่อนรับการฉีดวัคซีนได้
- สำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดวัคซีน HPV ได้เช่นกัน แต่จะไม่สามารถรักษาหรือป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่ติดไปก่อนแล้ว ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ
ราคาตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2568
แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง
โปรแกรมตรวจสุขภาพหญิง
โปรแกรมหญิง Women (Advance, Premium, Platinum)
คุกกี้และความเป็นส่วนตัว
เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย