degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

สาเหตุหลักที่ทำให้คนตาบอด รองจากต้อกระจก ก็คือ "ต้อหิน" คนเป็นส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัว เนื่องจากบางชนิดไม่มีอาการปวด กว่าจะมาพบแพทย์ก็สายไปเสียแล้ว

ต้อหิน Glaucoma

ต้อหิน เป็นโรคที่มีการทำลายเส้นประสาทตา มีหลายสาเหตุ ซึ่งความดันตาสูงเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ลานสายตาเสียไป หรือแคบลงเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในคนอายุมากกกว่า 35 ปีประมาณ 1-2 % แต่อาจพบได้ในคนอายุน้อยกว่านี้หรือเป็นมาแต่กำเนิดก็ได้

ต้อหินเป็นสาเหตุของตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก คนเป็นต้อหินส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตัวเองก็มาก เนื่องจากบางชนิดไม่มีอาการปวด กว่าจะมาพบแพทย์ก็ตามัวหรือลานสายตาแคบจนเดินชนสิ่งของ

การตรวจประสาทตาและวัดความดันตาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะบอกว่าเป็นต้อหินหรือไม่ ถ้าความดันตาสูงแสดงว่า มีน้ำหล่อเลี้ยงคั่งมาก ระบายออกไม่ทัน ตาจะแข็งราวกับหิน จึงเรียกว่า “ต้อหิน”


ชนิดของต้อหิน มี 2 ชนิด

  1. ต้อหินชนิดเฉียบพลัน
  2. ต้อหินชนิดเรื้อรัง

1.ต้อหินชนิดเฉียบพลัน

จะมีอาการปวดตา ตามัว เห็นไฟเป็นรุ้งโดยรอบ อาจปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนได้ ถ้าความดันตาสูงมากถ้าไม่รับการรักษาตาจะบอดได้ แต่ถ้ารีบรักษาก็สามารถกลับมาเห็นได้เป็นปกติ

สาเหตุของต้อหินชนิดเฉียบพลัน
  1. เกิดเอง เนื่องจากเกิดมาช่องระบายน้ำหล่อเลี้ยงในตาแคบ
  2. พออายุมากขึ้นและอากาศสลัวๆ ก็จะเกิดการคั่งของน้ำหล่อเลี้ยง
  3. ต้อกระจกที่ปล่อยให้สุก ม่านตาอักเสบ
  4. อุบัติเหตุเกิดเลนส์ตาเคลื่อนมาด้านหน้า ปิดกั้นการระบายของน้ำหล่อเลี้ยงตา

2.ต้อหินชนิดเรื้อรัง

ระยะแรกจะไม่มีอาการ โรคจะดำเนินไปช้าๆ ความดันตาสูงขึ้นทีละน้อย มักเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง ประสาทตาจะถูกทำลายลงเรื่อยๆ ทำให้ลานสายตาแคบลงจนตาบอดถ้าไม่ได้รับการรักษา

สาเหตุของต้อหินชนิดเรื้อรัง
  1. เกิดเองโดยเฉพาะผู้ที่มีญาติพี่น้องในครอบครัวเป็น ต้องตรวจ ความดันตาตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะเป็นกรรมพันธุ์ได้
  2. เกิดจากการซื้อยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หยอดติดกันหลายขวด ยากลุ่มนี้รักษาอาการอักเสบได้ดี แต่ก็มีผลแทรกซ้อนเป็นต้อหินได้ เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรซื้อยาหยอดตาเองควรใช้ยาที่ จักษุแพทย์สั่งและควรติดตามการรักษากับจักษุแพทย์เป็นระยะๆ
  3. ม่านตาอักเสบเรื้อรัง
  4. เบาหวานขึ้นตา
  5. อุบัติเหตุจากของมีคมหรือแรงกระแทกที่ทำให้เกิดเลือดออกในตา ซึ่งในระยะยาวอาจมีต้อหินแทรกซ้อนได้ คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ จึงควรหมั่นตรวจความดันตาเป็นระยะๆด้วย

การรักษาต้อหิน

  1. การใช้ยา
  2. การใช้แสงเลเซอร์
  3. การผ่าตัด

การจะรักษาด้วยวิธีใดขึ้นอยู่กับชนิด ความรุนแรง และสาเหตุของโรค ทั้งนี้จักษุแพทย์จะเป็นผู้ใช้ดุลยพินิจที่จะให้ผลดีที่สุดกับผู้ป่วย และเมื่อได้รับการรักษาจนหายแล้ว ผู้ป่วยจะต้องพบจักษุแพทย์เป็นระยะๆ ตามนัดเพื่อจะได้ประเมินความดันตา ลานสายตา และการมองเห็น เพราะผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ยาหยอดเพิ่มเติมจากการฉายเลเซอร์หรือหลังผ่าตัด ในรายที่ไม่ได้เลเซอร์หรือผ่าตัดก็ต้องใช้ยาหยอดตลอดขาดไม่ได้

จุดประสงค์ที่สำคัญของการรักษาต้อหินก็คือพยายามให้ผู้ป่วยมองเห็นได้ตลอดไป ถ้าผู้ป่วยมารับการรักษาเร็วก็จะทำให้เซลล์ประสาทตาตายน้อย การมองเห็นก็จะยังดีอยู่มาก

แต่ถ้ามาช้ามีการทำลายประสาทตาไปมาก การรักษาไม่สามารถเรียกเซลล์ที่ตายแล้วคืนมาได้ แต่จะช่วยให้เซลล์ประสาทที่ยังเหลืออยู่ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพไปให้นานที่สุด


การป้องกันต้อหิน

  1. ตรวจสุขภาพตาประจำปี โดยการวัดความดันตาในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป
  2. ไม่ซื้อยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์มาหยอดเอง

ในคนที่เป็นต้อหินแล้ว

  1. หยอดยาตามที่จักษุแพทย์แนะนำอย่าให้ขาด
  2. พบจักษุแพทย์เป็นระยะเพื่อวัดความดันตา และลานสายตา



แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม