degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

การผ่าตัดเส้นเลือด สำหรับฟอกไต Arteriovenous Fistula ; AVF

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่เลือกวิธีการรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จะได้รับการแนะนำในการเตรียมตัวโดยต้องรับรู้ และเข้าใจถึงวิธีการรักษา

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งคือ ผู้ป่วยต้องมีเส้นเลือดสำหรับฟอกเลือดที่ดี เพราะต้องฟอกเลือดอย่างน้อย 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

  • การเตรียมหลอดเลือดสำหรับฟอกเลือด จะมีการเตรียมไว้เนิ่นๆ ตั้งแต่เป็นไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 เป็นต้นไป หรือล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือนสำหรับเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula ; AVF)
  • อายุรแพทย์โรคไตและศัลยแพทย์จะพยายามให้ผู้ป่วยมีเส้นเลือดสำหรับฟอกเลือดที่ดี มีการไหลเวียน (Blood Flow) ที่ดี มีอายุการใช้งานที่ยาวนานเท่าที่จะเป็นไปได้ มีผลแทรกซ้อนน้อย จึงมักเลือก AVF เป็นทางเลือกแรก ตามด้วย AVG และเลือกใช้การใส่สายสวนหลอดเลือดระยะยาวเป็นลำดับหลัง
  • AVF เป็นที่นิยม และได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่ำ และส่วนมากมีอายุการใช้งานนานกว่า 5 ปี และพบภาวะแทรกซ้อนน้อยทั้งจากการผ่าตัด อุดตัน และติดเชื้อต่ำ

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด

  1. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 4-5 จะได้รับคำแนะนำในการถนอมหลอดเลือด ไม่ควรใช้หลอดเลือดดำบริเวณที่แขนข้างที่ถูกกำหนดไว้สำหรับทำเส้นเลือกฟอกเลือดถาวร เช่น การเจาะเลือด ให้สารน้ำ ฉีดยาทางหลอดเลือด หรือใส่สายสวนใดๆ
  2. ก่อนการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะตรวจประเมินร่างกายและหลอดเลือด ตรวจดูหลอดเลือดดำ (Vein) และหลอดเลือดแดง (Artery) เพื่อตัดสินใจเลือกตำแหน่ง AVF กรณีที่แขนทั้ง 2 ข้างมี Vein และ Artery ศัลยแพทย์มักจะเลือกทำแขนข้างที่ไม่ถนัด

การดูแลหลังการผ่าตัด

  • ระวังไม่ให้แผลผ่าตัดเปียกน้ำ 7-14 วัน หรือจนกว่าจะตัดไหม
  • ค่อยๆ กำมือ-แบมือใน 2-3 วันแรก และหลังจากอาการปวดทุเลาให้บีบกำมือแรงขึ้น กำค้างสักครู่ (นับ1-5 )แล้วแบมือออก ทำต่อเนื่อง 10-15 นาที วันละหลายๆ ครั้ง
  • ต้องบริหารแขนอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 เดือนให้หลอดเลือดแข็งแรง
  • ห้ามนอนทับแขน ให้ยกแขนสูงกว่าระดับหัวใจเพื่อลดอาการบวม
  • ห้ามยกของหนัก ใส่เครื่องประดับ หรือเสื้อที่รัดแขน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของหลอดเลือด
  • ห้ามไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ วัดความดันโลหิต เจาะเลือด ให้สารน้ำทางหลอดเลือดแขนข้างที่ผ่าตัด
  • ระวังการติดเชื้อ โดยไม่แกะเกาผิวหนังที่ผ่าตัดหลอดเลือด
  • ระวังการกระแทก และถูกของมีคม
  • หัดคลำ และฟังเสียงเส้นเลือดที่แขนข้างผ่าตัด โดยเอาแขนแนบหูจะได้ยินเสียงอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีอาการเวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ คลำและฟังได้ยินเสียงเบาลง ควรปรึกษาแพทย์
  • หลอดเลือดที่ผ่าตัด AVF ที่ไม่สมบูรณ์พร้อมใช้ภายในเวลา 6 สัปดาห์หลังผ่าตัด ควรได้รับการตรวจหาสาเหตุและแก้ไข
  • สังเกตอาการผิดปกติ ได้แก่ เลือดซึมจากผ้าปิดแผล แขนบวม ปวด ชา ปลายนิ้วมีสีเข้ม ให้มาปรึกษาแพทย์

หมายเหตุ - ราคาตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ธ.ค. 2567

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม