degrees call-center-agent ambulance stethoscope hours-phone-service wifi-connection-signal-symbol drink-water water-heater bowl-in-a-microwave freezer wardrobe computer cutlery table sofa newspaper cd-player television bathroom-furniture toilet patient-in-hospital-bed hospital-bed

จะทำอย่างไร? หากผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ

การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาหรือ PAPSMEAR เป็นการตรวจเพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ปากมดลูก และทำการสืบค้นหาให้ได้รอยโรคที่แท้จริงบนปากมดลูกที่เป็นต้นเหตุของความผิดปกติที่ตรวจพบ หากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแล้วพบว่าผลผิดปกติ
''อย่าเพิ่งตกใจกับผลของการตรวจมะเร็งปากมดลูกที่แจ้งว่าผิดปกติ และโปรดจำไว้ว่าผลการตรวจมะเร็งปากมดลูกผิดปกติไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งทุกราย''

สาเหตุของความผิดปกติของปากมดลูกจากผลการตรวจคัดกรอง อาจเกิดจาก

  1. ภาวะปากมดลูกอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อรา แบคทีเรีย หรือเชื้อพยาธิในช่องคลอด
  2. ภาวะการติดเชื้อไวรัสก่อมะเร็งปากมดลูก - HPV พบได้บ่อย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการผิดปกติ แต่จะตรวจพบก็ต่อเมื่อมีการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกเท่านั้น บางรายอาจจะทำให้เกิดรอยโรคเป็นหูดหงอนไก่หรือบางรายเชื้อไวรัสนี้อาจจะกระตุ้นเซลล์เยื่อบุปากมดลูกให้มีการแบ่งตัวผิดปกติ และกลายเป็นมะเร็งได้ในอนาคต
  3. เซลล์ปากมดลูกผิดปกติ เป็นรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก เซลล์ผิดปกติเหล่านี้ (HSIL, LSIL) ยังไม่ได้เป็นเซลล์มะเร็ง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้ทำการตรวจรักษา อาจจะกลายเป็นมะเร็งได้ในภายหลัง
  4. ภาวะช่องคลอดแห้งการขาดฮอร์โมนเพศ พบบ่อยในวัยหมดประจำเดือน ทำให้ผนังเยื่อบุปากมดลูกบางลง แห้งและอักเสบ

ทำอย่างไรเมื่อผลตรวจผิดปกติ ?

เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำ แพทย์จะมีวิธีการตรวจขั้นตอนต่อไป ด้วยการใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูกโดยเฉพาะที่เรียกว่า COLPOSCOPY

การตรวจด้วย COLPOSCOPY คือ การตรวจเนื้อเยื่อบุผิวของปากมดลูก ช่องคลอด ปากช่องคลอด และทวารหนัก ด้วยกล้องขยายส่องสว่างหลังจากทาหรือชโลมด้วยน้ำยาเฉพาะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือเพื่อตรวจยืนยันความปกติของเนื้อเยื่อบุผิว หัตถการที่อาจจะทำร่วมกับการตรวจ คือ การตัดเนื้อเยื่อเป้าหมายออกตรวจ จากบริเวณที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติรุนแรง

Pap 2

ข้อบ่งชี้ของการตรวจด้วย COLPOSCOPY ได้แก่

  1. ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วย Pap smear ผิดปกติ เป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการตรวจมากที่สุด
  2. ปากมดลูกมีลักษณะผิดปกติเช่น มีแผล หรือก้อนเนื้อ จากการตรวจด้วยตาเปล่า
  3. เลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ หรือเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวเนิ่นนานที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ อาจตรวจด้วย COLPOSCOPY เพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็ง
  4. รอยโรคน่าสงสัยบริเวณช่องคลอด และปากช่องคลอดจากการตรวจด้วยตาเปล่า

กรณีอื่นๆ ที่อาจพิจารณาตรวจด้วย COLPOSCOPY เช่น

  • การติดเชื้อ high-risk HPV แบบเนิ่นนาน (persistent HPV infection) เช่น ผลการตรวจ HPV DNA testing ให้ผลบวก 2 ครั้ง จากการตรวจห่างกัน 12 เดือน
  • ผลการตรวจด้วยน้ำส้มสายชู (visual inspection with acetic acid, VIA) พบฝ้าขาวหรือผิดปกติ
  • การตรวจติดตามผลหลังการรักษารอยโรค CIN ด้วยการรักษาเฉพาะที่ เช่น การจี้ด้วยความเย็น และ การตัดด้วยห่วงไฟฟ้า ฯลฯ
  • รอยโรค CIN 1 ที่คงอยู่นานกว่า 12 เดือน
  • คู่นอนเป็นเนื้องอกหรือหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศส่วนล่าง
  • ผล Pap smear พบว่ามีการอักเสบหลายครั้งโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก

ภายหลังการตรวจด้วย COLPOSCOPY สามารถทำงานได้ตามปกติ หากมีการใส่ผ้าซับเลือดไว้ในช่องคลอด แนะนำให้ดึงผ้าซับเลือดออกหลังการตรวจประมาณ 3 ชั่วโมง สังเกตเลือดออกทางช่องคลอด ภายหลังการตัดเนื้อออกตรวจอาจจะมีเลือดออกมาเล็กน้อยได้ประมาณ 1 – 3 วัน

ถ้ามีเลือดออกมากผิดปกติให้กลับมาที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อตรวจหาสาเหตุ และทำการห้ามเลือด ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการตกเลือด และการติดเชื้อ ไม่ควรสวนล้างหรือใส่ผ้าอนามัยชนิดสอดในช่องคลอดในช่วง 7 วันแรกหลังการตรวจ และนัดมาฟังผลการตรวจชิ้นเนื้อเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป


ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ ?

แพทย์อาจจะตรวจเพิ่มเติมว่าเป็นเชื้ออะไร และทำการรักษาโดยการให้ยาฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นแพทย์อาจจะนัดตรวจมะเร็งปากมดลูกซ้ำใหม่อีกครั้งภายใน 6 เดือน

ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสก่อมะเร็งปากมดลูก (HPV) ?

ถ้ามีติดเชื้อไวรัสนี้อย่างเดียวโดยที่ไม่พบหูดหงอนไก่ ก็ไม่จำเป็นจะต้องรักษา เพราะการติดเชื้อชนิดนี้ หากร่างกายแข็งแรงดี ร่างกายก็สามารถกำจัดเชื้อได้เอง ภายใน 4-6 เดือน ดังนั้นต้องตรวจมะเร็งปากมดลูกบ่อยขึ้น คือ ทุก 6 เดือน จนกระทั่งเชื้อไวรัสนั้นหายไป แต่ถ้าพบทั้งเชื้อไวรัส และมีหูดหงอนไก่ แพทย์อาจให้การรักษาด้วยการจี้เย็น จี้ไฟฟ้า และนัดตรวจมะเร็งปากมดลูกตามความเหมาะสม

ถ้าพบเซลล์ผิดปกติ ?

สงสัยรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ในขณะที่ทำการส่องกล้อง Colposcopy แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกที่ผิดปกติเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรค โดยผลของชิ้นเนื้อที่ตัดออกไปจะทราบผลประมาณ 1 สัปดาห์

แต่อย่างไรก็ตาม หากพบรอยโรคผิดปกติระหว่างการส่องกล้อง แพทย์อาจให้การรักษาไปในคราวเดียวกัน โดยการจี้ไฟฟ้า หรือตัดปากมดลูกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า เป็นการรักษาครบวงจรในครั้งเดียวก็ได้ หลังจากนั้นแพทย์จะมีการนัดตรวจมะเร็งปากมดลูกตามระยะเวลาที่เหมาะสม

''ในสตรีที่มีผลตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกผิดปกติ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง COLPOSCOPY ทุกราย เนื่องจากการส่องกล้องเป็นการทำเพื่อตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก หากตรวจพบอย่างรวดเร็ว แต่เนิ่นๆ สามารถรักษาให้หายได้เกือบร้อยละ 100 ถ้าได้รับการรักษาและการตรวจติดตามที่เหมาะสม''


แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง

© 2024 โรงพยาบาลขอนแก่นราม